COVID-19

สภาฯผู้บริโภค จี้อภ. เปิดข้อมูล รพ.ใช้ชุดตรวจโควิด LEPU หวั่นสูญงบ สร้างขยะ 8.5 ล้านชิ้น

สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้อภ. เปิดเผยโรงพยาบาลที่ใช้ชุดตรวจโควิด ยี่ห้อ “LEPU” ก่อนตัดสินใจซื้อ กังวลปัญหาคุณภาพ ผลตรวจแม่นยำน้อย ต้องตรวจซ้ำ อาจกลายเป็นสร้างขยะเพิ่ม 8.5 ล้านชิ้น

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้พิจารณาตัดสินใจจัดซื้อชุดทดสอบโควิด Antigen Test Kit (ATK) ยี่ห้อ LEPU จำนวน 8.5 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่ถูกคัดค้านจากชมรมแพทย์ชนบท ว่า เป็น ATK ที่มีข้อจำกัดเรื่องความแม่นยำ ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเรียกร้องขอความมั่นใจด้านคุณภาพ

LEPU

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า เป้าหมายของการใช้ชุดทดสอบ ATK เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาและการควบคุมโรคโควิด-19 ของประชาชน ดังนั้นหาก อภ. กระจายชุดทดสอบที่มีความแม่นยำน้อย หรือให้ผลตรวจที่ไม่มั่นใจถึงความถูกต้อง ย่อมสร้างปัญหาให้หน่วยบริการต้องตรวจยืนยันผล

นอกจากนี้ ยังขัดต่อแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ ที่ยอมรับให้ประชาชนที่ตรวจด้วยชุดทดสอบ ATK สามารถได้รับบริการยา การรักษา การแยกตัวที่บ้านหรือชุมชนได้ทันที (Home Isolation and Community Isolation) หรือเพื่อลดปัญหาการเข้าถึงการตรวจยืนยันผล ด้วยวิธีการตรวจ RT-PCR ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการการตรวจของโรงพยาบาล และท้ายที่สุดเข้าไม่ถึงถึงการรักษา แทนที่จะสามารถดำเนินการด้วยความรวดเร็วเพื่อลดความรุนแรงของโรคและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ดังนั้น อภ. ต้องให้ข้อมูลกับสาธารณะได้ว่า ปัจจุบันชุดทดสอบนี้มีการใช้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และกระจายให้กับโรงพยาบาล และหน่วยบริการทั่วประเทศ เพราะอาจจะกลายเป็นขยะไปทั่วประเทศมากถึง 8.5 ล้านชิ้น สูญเสียงบประมาณ

สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง

ขณะเดียวกัน ยังทำให้เกิดภาระกับหน่วยบริการ ที่จะต้องตรวจซ้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ การรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชน

สภาฯ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการ อภ. จัดซื้อชุดทดสอบ ATK ที่มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐาน ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สนับสนุนให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถที่จะจัดหาวัคซีน อุปกรณ์ที่จำเป็น ชุดทดสอบต่าง ๆ รวมถึงการจัดซื้อยาในวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้เพราะกระบวนการจัดซื้อยา และวัสดุปกรณ์ต่าง ๆ ของ สปสช. นั้น ประชาชนสามาถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ซึ่งมีความแตกต่างจาก อภ. ที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาการจัดซื้อ ATK ในครั้งนี้ มีการประชุมเพื่อจัดหาต่อรองราคา จากคณะทำงานจัดหายาของ สปสช. เพื่อให้ได้ชุดทดสอบที่มีคุณภาพสูง ราคาเป็นที่ยอมรับได้ กระจายถึงสถานีอนามัย แต่กลับไม่ได้รับการจัดซื้อจาก อภ. แต่อย่างใด”น.ส.สารี กล่าว

สภาผู้บริโภค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo