COVID-19

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเฉียด 2 พันราย ดับ 37 ราย เศร้า!! ทารกดับแล้ว 20 ราย

กรมอนามัย เปิดข้อมูล “หญิงตั้งครรภ์” สะสมรวม 1,993 ราย เสียชีวิตแล้ว 37 ราย ขณะที่ทารกติดเชื้อ 113 ราย เสียชีวิตแล้ว 20 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตขณะคลอด

  • นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดว่า ข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563-11 สิงหาคม 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 1,993 ราย เป็นคนไทย 1,315 ราย และคนต่างด้าว 678 ราย จำนวนนี้มีผู้รับวัคซีนแล้ว 10 ราย ทารกติดเชื้อมี 113 ราย

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตมี 37 ราย ทารกเสียชีวิต 20 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตขณะคลอด 11 ราย และเสียชีวิตช่วง 7 วันแรก 9 ราย ยังไม่รวมรายงานการเสียชีวิตในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งพบอีก 2 ราย ที่ จ.ชัยนาท และอุดรธานี ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบหมอพร้อมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก 7,935 ราย และครบเข็ม 2 จำนวน 574 ราย

ติดเชื้อหนักช่วงระลอก 2

ทั้งนี้ มองว่า การระบาดระลอกแรกพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไม่มาก แต่เริ่มพบมากตั้งแต่ระลอก 2 คือ ธันวาคม 2563-มีนาคม 2564 พบเดือนละ 5-25 ราย แต่เริ่มการระบาดระลอก 3 ช่วง เมษายน 2564 เป็นต้นมา พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื่้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมพบเดือนละมากกว่า 200 ราย จนช่วงเดือนกรกฎาคมพบมากถึง 800 กว่าราย รายงานหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2564 และเพิ่มขึ้นตามลำดับ

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด

“ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อายุ 20-37 ปี คิดเป็น 74.21% อายุ 35 ปีขึ้นไป 19.17% อายุต่ำกว่า 20 ปี 5.07% เกิดอาการปอดอักเสบ 449 ราย คิดเป็น 22.53% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี 9 ราย คิดเป็น 10.89% อายุ 20-34 ปี 269 ราย คิดเป็น 20.96% อายุ 35 ปีขึ้นไป 105 ราย คิดเป็น 27.49% และไม่ระบุอายุ 23 ราย คิดเป็น 74.19%” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

สำหรับจำนวนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อที่คลอดแล้ว ข้อมูลถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 มีจำนวน 1,129 คน คิดเป็น 55.65% ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอด 53% พบการคลอดก่อนกำหนดหรือก่อน 37 สัปดาห์เกือบ 18% ซึ่งปกติในไทยพบ 10% และพบทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย 16% ซึ่งปกติในไทยพบประมาณ 8%

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด

เมื่อดูจำนวนผู้เสียชีวิต 37 ราย อยู่ใน กทม. 7 ราย และต่างจังหวัด 30 ราย จำนวนนี้พบว่าเสียชีวิตก่อนคลอด 16 ราย และเสียชีวิตหลังคลอดแล้ว 16 ราย ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 35 ราย เกิดจากภาวะทางสูติกรรม 2 ราย ส่วนทารกที่คลอดออกมา 16 ราย พบว่า ทารกปกติดีไม่ติดเชื้อ 6 ราย ญาติรับกลับไปดูแล มีทารกติดเชื้อ 2 ราย และเสียชีวิต 5 คน

ปัจจัยเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตเหมือนกลุ่มบุคคลทั่วไปมีโรคประจำตัว คือ อ้วน อายุเกิน 35 ปี มีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ติดจากบุคคลในครอบครัว สถานที่ทำงาน และตลาด จากวิเคราะห์พบว่าเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ จากการตั้งครรภ์เอง 9% การเข้าถึงบริการ 21% และข้อกัดภายในระบบบริการ 70%

การยกระดับป้องกันและดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ คือ เน้นการป้องกันระดับบุคคล ดังนี้

  1. ดูแลป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจอุณหภูมิ หากสงสัยเสี่ยงติดเชื้อ ไปตรวจด้วย ATK
  2. สนับสนุนหญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้านหาก โดยเฉพาะที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3 หรือ 28 สัปดาห์ขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ทำงานในสถานประกอบการที่เสี่ยงสูง หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
  3. ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะติดเชื้อโควิดมีความเสี่ยงโรครุนแรงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่อ้วน มีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนหลัง 12 สัปดาห์ ผลข้างเคียงจากวัคซีนคล้ายกับคนไม่ตั้งครรภ์ สามารถฉีดได้ในสตรีที่ให้นมบุตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo