COVID-19

แนวร่วมมาพรึ่บ ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ‘หมอประเสริฐ’ ลั่นไม่เริ่มวันนี้ เสียชีวิตพุ่ง 2-3 หมื่นคน

ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนัง “หมอประเสริฐ” คณะแพทย์ฯ ศิริราช โดดหนุนไทยเริ่มใช้ แก้สถานการณ์ระบาดหนัก วัคซีนมีจำกัด ช่วยลดการใช้วัคซีนลง 5 เท่า คาดไม่เริ่มวันนี้ จะเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตวันละ 2-3 หมื่นคน

ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Prasert Auewarakul” สนับสนุนแนวคิดการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ที่ใช้วัคซีนลดลงถึง 5 เท่า ชี้จะใช้วัคซีนเพียง 16 ล้านโดส เทียบการฉีดเข้ากล้ามที่ต้องใช้ถึง 80 ล้านโดส คาดหากไม่เริ่มวันนี้ ในสถานการณ์วัคซีนมีจำกัด จะเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตแตะ 20,000-30,000 คน โดยระบุว่า

ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนัง

“หากเรามีวัคซีนไม่จำกัดจะเป็นอย่างไร?

การเร่งระดมฉีดโดยทุกฝ่ายน่าจะเป็นไปได้ ที่จะมีความครอบคลุมถึง 70% ของประชากร ภา่ยใน 2-3 เดือน ซึ่งจะทำให้การระบาดควบคุมได้ โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ และแม้จะยังมีคนป่วย แต่คนตายจะน้อยลงมา และโรงพยาบาลจะไม่ล้น

ต้องใช้วัคซีนเท่าไร? เป็นไปได้หรือไม่?

วัคซีนสองโดสสำหรับคนประมาณ 50 ล้านคนต้องการ 100 ล้าน แต่เราฉีดไปแล้วเกิน 20 ล้านโดส จึงต้องการอีกสัก 80 ล้าน หากด้วยวิธีการฉีดปกติ น่าจะเป็นไปได้ยากที่จะได้วัคซีน 80 ล้านโดสในเวลาสั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด

แต่หลายทีมกำลังทดสอบวัคซีนแบบ intradermal ที่ควรจะใช้วัคซีนลดลง 5 เท่าเป็นอย่างน้อย ซึ่งในเวลาไม่นานควรจะทราบผล และหากได้ผลดี และนำมาใช้ จะทำให้เราต้องการวัคซีนอีกเพียง 16 ล้านโดส ซึ่งหากได้วัคซีนทั้งหมดที่ผลิตที่ Siam Bioscience ในเวลาเพียงเดือนเศษ ๆ ข้างหน้า จะเพียงพอที่ทำเช่นนี้ได้

ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล
ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล

หากไม่ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร?

1. หากรอวัคซีนที่จะมาตามปกติและใช้วิธี intradermal เช่นเดียวกันน่าจะเกิดผลแบบเดียวกันได้ แต่จะช้าออกไปสัก 3 เดือน ซึ่งจะมีคนเสียชีวิตเพิ่มอีกมากกว่าหนึ่งหมื่นคน (โดยใช้อัตราตายในปัจจุบัน) และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงเวลา 3 เดือนนั้น มากเท่าไรผมประเมินไม่ได้ แต่แน่นอนว่ามาก

2. หากรอวัคซีนที่จะมาตามปกติและใช้วิธีการฉีดแบบปกติ น่าจะต้องรอถึงไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นอย่างน้อยจึงจะได้ coverage ที่พอเพียง แปลว่าจะต้องช้าออกไปสัก 6 เดือน ซึ่งจำนวนคนเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีกสองถึงสามหมื่นคน

และหากคิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากความล่าช้าของการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปครึ่งปี ซึ่งเป็นการเสียโอกาสในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับวัคซีนมากพอแล้ว เริ่มมีการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความสูญเสียจะเป็นกี่ % ของ GDP ผมก็ไม่ทราบ แต่ควรจะมากเกินพอที่จะต้องพิจารณาทางออกที่เป็นไปได้ที่ต่างไปจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

การตัดสินใจแบบไม่ตัดสินใจสุดท้ายจะได้การดำเนินการที่ conservative ที่สุด ซึ่งอาจจะปลอดภัยสำหรับผู้ตัดสินใจ แต่ความเสี่ยง และผลได้ผลเสีย ที่จะเกิดกับส่วนรวมเป็นอย่างไร ก็อยากให้ช่วยกันคิด ที่เสนอผมก็ไม่ได้รับรองยืนยันว่าจะถูก (ผมคิดของผมว่าถูก) แต่ทางออกต่าง ๆ ควรจะได้มีการช่วยกันคิด และได้รับการพิจารณาครับ”

11 5

ร่วมโครงการทดลอง ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนัง 

นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ ยังได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการทดสอบวัคซีนแบบฉีด intradermal (ฉีดเข้าผิวหนัง) โดยระบุว่า

“เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการทดสอบวัคซีนแบบฉีด intradermal (ฉีดเข้าผิวหนัง) ซึ่งจะประหยัดวัคซีน ฉีดวิธีนี้จะทำให้มีผลข้างเคียงเฉพาะที่เป็นตุ่มนูนแดงได้บ่อย แต่ผมคิดว่าไม่เป็นไร ดีกว่าขาดแคลนไม่มีฉีด

ปกติการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องมีการอักเสบบ้าง เพื่อบอกให้ร่างกายรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอม ปกติเวลามันอยู่ในกล้ามเนื้อ เราจะรู้สึกปวด ๆ ตึง ๆ แต่มองไม่เห็น ฉีด intradermal ก็ทำให้เกิดการอักเสบแบบเดียวกัน เพียงแต่เราจะมองเห็นเพราะมันอยู่ตื้น

ปล: ปกติฉีดจุดเดียวก็ควรจะพอครับ แต่โครงการต้องการดูด้วยว่า ฉีดสองจุด จะดีขึ้นอีกไหม ผมได้สุ่มอยู่ในกลุ่มฉีดสองจุดครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo