COVID-19

‘Sandbox’ ในโรงเรียน นำร่อง 100 แห่ง หวังเปิดเข้าเรียนได้ภาคการศึกษาหน้า

Sandbox ในโรงเรียน กรมอนามัย จับมือกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแนวทาง Sandbox Safety Zone in School นำร่องโรงเรียน 100 แห่ง หวังให้นักเรียนสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ในภาคการศึกษาหน้า

นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการประชุมเตรียมแนวปฏิบัติ Sandbox Safety Zone in School หรือการเปิดโครงการ Sandbox ในโรงเรียน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมจัดทำแนวปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

Sandbox ในโรงเรียน

  • จำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน
  • มีการคัดกรองโดยใช้วิธี Rapid Antigen Test
  • เน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบ Bubble and Seal
  • ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus
  • มีระบบติดตามเข้มงวดของครูและบุคลากร พร้อมเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วันหรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา
  • ครู บุคลากรทางการศึกษา มีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ เข้าถึงการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85
  • นักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะพิจารณาฉีดวัคซีนให้ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
  • กรณีโรงเรียนมีการเปิดเรียนแล้ว แต่ต้องปิดเรียนเนื่องจากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น จะมีโรงเรียนเข้าร่วมนำร่องจำนวน 100 โรงเรียนในเดือนสิงหาคมนี้ แต่สำหรับโรงเรียนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จะยังคงต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์เช่นเดิม รวมถึงมีการกำชับครู ไม่ให้สอนต่อเนื่องจนเกินไปด้วย เพราะอาจทำให้นักเรียนประสบปัญหาออฟฟิศซินโดรม จากการนั่งเรียนนาน ๆ ได้ โดยครูอาจต้องปรับเปลี่ยนให้มีกิจกรรมระหว่างเรียนด้วย

นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข

จากนั้น เมื่อเด็กสามารถกลับไปเรียนได้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยให้เว้นห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัด และไม่ถูกวิธี ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทน เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่ลูก

ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19 ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ยึดหลักดังนี้

1. เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

2. สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหาร ผู้ปกครองควรแยก หรือเหลื่อมเวลากินอาหาร

3. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ

4. ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณีและประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย”ทุกวัน

กรมอนามัย

หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า37.8องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบหายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที

ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มวัย เฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี มีการระบาดอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564 พบมีเด็กต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อ จำนวน 18,775 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.3 และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบอัตราการเสียชีวิตในเด็ก 0-15 ปี ร้อยละ 0.02 โดยมากกว่าร้อยละ 70 ไม่มีอาการ และกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมักมีโรคประจำตัวร้ายแรงมากกว่าเด็กในกลุ่มเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo