COVID-19

แจงปมงานวิจัย ‘ฟ้าทะลายโจร’ ยันไม่ได้ถูกถอนงานวิจัย แค่ส่งกลับมาแก้ข้อมูล

งานวิจัย ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ถูกถอนจากวารสารนานาชาติ กรมการแพทย์แผนไทยฯ แจงชัด ทีมวิจัยพบตัวเลขผิด 1 จุด จึงขอดึงกลับมาปรับปรุง และจะส่งคืนวารสารนานาชาติต่อไป 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยกรณีงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถูกถอนงานวิจัย นั้น ข้อเท็จจริงคือ นักวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้นำเสนอ เพื่อรับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ แต่ระหว่างนั้นมีบางจุดที่ต้องขอดึงข้อมูลกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องมากขึ้น

งานวิจัย ฟ้าทะลายโจร

สำหรับงานวิจัย ฟ้าทะลายโจร ดังกล่าว คือ Efficacy and safety of Andrographis paniculate extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัด ในผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรง และเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน

“แม้จะเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยเรื่องตัวเลข แต่สำหรับงานวิจัยตัวเลขเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่ นักวิจัยต้องซื่อสัตย์ จึงดึงข้อมูลตรงนี้กลับมา โดยไม่ได้ถูกปฏิเสธจากวารสารแต่ประการใด”พญ.อัมพร กล่าว

ที่มาของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว เนื่องจาก ทีมวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แสวงหายารักษา และพบว่า ฟ้าทะลายโจรมีคำตอบในห้องปฏิบัติการอยู่แล้ว จึงนำมาศึกษาประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ของฟ้าทะลายโจรสกัด ในผู้ป่วยโควิด อาการไม่รุนแรง และพบแนวโน้มผลลัพธ์ที่ดี โดยเฉพาะการลดการพัฒนาตัวโรคไม่ให้รุนแรงจนปอดอักเสบ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

ทั้งนี้ ได้สุ่มผู้ป่วยอายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ แต่ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย โดยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 จำนวน 29 ราย ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่มีการคำนวณเรียบร้อยแล้วสำหรับการรักษา

กลุ่มที่ 2 จำนวน 28 ราย ได้รับยาหลอก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างไม่ทราบว่าตัวเองได้ยาชนิดใด

ผลการศึกษาปัญหาปอดอักเสบ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย ไม่มีใครที่เกิดภาวะปอดอักเสบเลย ส่วนคนที่ได้รับยาหลอก 3 ราย เกิดภาวะปอดอักเสบ หรือ 10.7% จึงมีการศึกษาต่อเนื่อง และนำสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการใช้ยาในลำดับถัดไป

ฟ้าทะลายโจร 3

ขณะเดียวกัน นักวิจัยต้องขยายงานวิจัย เพื่อแบ่งปันเพื่อนนักวิจัยแวดวงอื่น ๆ จึงต้องคิดค่าคำนวณต่าง ๆ หากนัยยะสำคัญทางสถิติครั้งแรก มีผลคลาดเคลื่อน 0.03 จึงส่งผลวิจัยออกไป แต่เมื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ก็พบว่ามีจุดอ่อน คือแทนที่ค่าความคลาดเคลื่อนจะเป็น 0.03 จะต้องเป็น 0.112

“ความสำคัญคือ หากเป็นตัวเลข 0.03 เปรียบเสมือนทดลอง 100 ครั้ง การค้นพบผลลัพธ์คงเดิม 97 ครั้ง ตัวเลขน่าพอใจมาก แต่ตัวเลข 0.112 แปลว่าหากทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 90 ครั้ง ความเที่ยง ความคงที่ลดลงระดับหนึ่ง”พญ.อัมพร กล่าว

สิ่งที่เราค้นพบต่อจากการวิจัย คือ การคงอยู่ของไวรัสในวันที่ 5 โดยพบว่าใน 29 รายที่ได้รับฟ้าทะลายโจร ใน 10 รายที่ยังเจอไวรัสอยู่ ส่วน 28 รายที่ได้ยาหลอก พบว่ามี 16 ราย ที่ยังเจอไวรัสในวันที่ 5 หรือมากเกินกว่าครึ่ง ยิ่งตอกน้ำถึงความเป็นไปได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่พบว่าจะมีผลต่อระบบการทำงานของตับ ไต และระบบเลือด สะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo