COVID-19

เตือนระวังซื้อ-ใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ชี้ไม่ยืนยันป้องกันโควิด กินมากเป็นผลเสีย

ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยที่กำลังกล่าวถึงในการรักษาโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนัก ทำให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายรีบเร่งในช่วงวิกฤต แต่หารู้ไม่ว่ายังไม่มีผลยืนยันว่ารักษาได้ อีกทั้งกินมากจะส่งผลกระทบต่อตับ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อฟังให้ชัดกับการเลือกซื้อฟ้าทะลายโจรในสภาวะวิกฤต ในประเด็น ราคา คุณภาพ และความปลอดภัย  โดยมีวิทยากรได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและการนำไปใช้อย่างเหมาะสมปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้อยู่ในแผนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19

ฟ้าทะลายโจร

รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่าปัจจุบันไม่มีการวิจัยยืนยันว่าสามารถใช้ในการป้องกันโรค COVID-19 จึงไม่แนะนำให้ใช้ในการป้องกัน เพราะพบว่าหลายคนใช้ในขนาดต่ำๆ เป็นระยะเวลานาน แล้วพบว่าค่าเอนไซม์ Enzyme บางชนิดในตับสูงขึ้น มีการอ้างถึงในกรณีของการใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19  ของ นพ.อเนก มุ่งอ้อมกลาง ในเรือนจำกลางของ กทม.มีการใช้ผงที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 144 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง

“ในกรณีที่เราไม่ทราบปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ที่แน่นอน อาจอ้างอิงการใช้จากบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการรักษาไข้หวัด ซึ่งแนะนำว่าสามารถใช้ได้สูงสุดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน”

ทั้งนี้ กรมการแพทย์มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการโดยให้การใช้ 180 มิลลิกรัม/วันแบ่งให้ 3 ครั้ง (มื้อละ 60 มิลลิกรัม) ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

ในปัจจุบัน กรณีที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จะห้ามใช้คู่กับฟ้าทะลายโจร ดังนั้นการใช้จะต้องมีการติดตามประสิทธิผล รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจะเกิดขึ้น เบื้องต้นรับประทานติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ถ้าไม่มีความเสี่ยงเรื่องตับ อาจจะรับประทานต่อได้ แต่ควรจะไม่เกิน 14  วัน

รศ.ภญ.ดร.มยุรี แนะนำว่าหากนำใบมาใช้ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแนะนำให้ใช้ใบจากต้นที่เริ่มออกดอกแล้ว ซึ่งในใบจะมีแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด โดยรับประทานครั้งละ 5-10 ใบ วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบติดต่อเพื่อหายาฟาวิพิราเวียร์

นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังเรื่องยาตีกันจากการใช้ ดังนั้นจึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรหากต้องรับประทานติดต่อกันเป็นหลายวัน สำหรับในเด็ก 4-11 ปี มีข้อแนะนำให้ใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ 30 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง รับประทานไม่เกิน 5 วัน

ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมเรื่องการดูฉลากยาสมุนไพรเพราะบางฉลากไม่มีการพูดถึงข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ บางฉลาก รวมถึงข้อมูลในแผ่นพับหรือตาม social media มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด จงใจหลอกหลวง ในบางครั้ง อาจจะเกิดจากความไม่รู้หรือข้อมูลที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอของผู้ผลิตเอง ผู้บริโภคอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์องค์กรที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ปัจจุบันมียาปลอมเกิดขึ้น ดังนั้นการตรวจเช็คต้องดูว่าเป็นยากลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีเลขทะเบียน G ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบชื่อการค้า รวมถึงข้อมูลต่างๆของผลิตภัณฑ์เบื้องต้นจากเว็บไซต์ของ อย. ได้ โดยไปที่ Google เพื่อค้นหา “ตรวจสอบเลข อย.” จะพบเว็บไซต์อันดับต้นๆ ที่เขียนว่า ระบบตรวจสอบการอนุญาต – กระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ  ย้ำว่าคุณภาสมุนไพรไม่ได้จบแค่ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งต้องใช้วิธีวิเคราะห์ที่มีความถูกต้องในการทดสอบปริมาณสารดังกล่าว รวมถึงการควบคุมคุณภาพในแง่มุมอื่นๆ เช่น เวลาที่ใช้ในการแตกกระจายตัวของยา ความแตกต่างจากน้ำหนักเฉลี่ย ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนัก ปริมาณการตกค้างของตัวทำละลายที่ใช้สกัดในกรณีที่ใช้ตัวทำละลายในการสกัด  และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์แก่ประชาชน

ในมุมของสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจำหน่ายในราคาที่สูงมากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งพบได้ทั่วไปรวมทั้งใน platform ออนไลน์ อีกทั้งยังพบของปลอมและการสวมทะเบียนผลิตภัณฑ์อื่น

ทั้งนี้ สภาองค์กรฯ พยายามจะประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างจริงจัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo