COVID-19

เวลาทอง 2 สัปดาห์ ‘สธ.’ วอนประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อ ล็อกดาวน์ตัวเอง!!

กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมืออยู่บ้านอีก 2 สัปดาห์ หลัง ศบค. ขยายล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ถึง 25% พร้อมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และผลจากการล็อกดาวน์

โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วานนี้ (2 ส.ค.) ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 17,970 ราย รักษาหาย 13,919 ราย อยู่ระหว่างรักษา 208,875 ราย เสียชีวิต 178 ราย ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ 20 % ใน 14 วันที่ผ่านมา หากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อคดาวน์เป็น 25 % โดยล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด ต่ออีก 14 วัน ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอีกค่อนข้างมาก

สาธารณสุข

ทั้งนี้ ในภาวะวิกฤตความร่วมมือของทุกภาคส่วนมีค่ามากที่สุดในการลดการติดเชื้อ ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ช่วยกันลดการเดินทางดูแลตนเองเข้มขึ้น โดย กทม.จะเริ่มดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ถัดไป และตามด้วยจังหวัดต่าง ๆ ขอให้กลับไปนึกถึงเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อ ไม่แพร่กระจายโรคต่อ

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 นั้น ใน กทม.และปริมณฑล ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนมากเพียงพอ ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะเร่งฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงในต่างจังหวัดมากขึ้น คือ ผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้คำแนะนำจากคณะทำงานด้านวิชาการ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ คณะทำงานด้านวัคซีน และนักวิชาการต้องขอบคุณคณาจารย์ต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ ให้ข้อแนะนำที่ดีในการใช้วัคซีนที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน เนื่องจากท่านมีความเป็นครูและผู้ให้ อยากทำสิ่งดี ๆ ให้ประเทศและประชาชน

“สำหรับปี 2565 รัฐบาลอนุมัติกรอบการจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยจะจัดหาวัคซีนทุกชนิด ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต ที่เป็นวัคซีนรุ่นใหม่จะป้องกันเชื้อในช่วงเวลานั้นได้ วัคซีนที่ ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นและอัลฟาได้ แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นเดลตาประสิทธิภาพก็อ่อนลง โดยปัจจุบันบริษัทต่างๆ กำลังพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ อาจเป็นวัคซีนหลักที่ต้องฉีด 2 เข็ม หรืออาจเป็นวัคซีนบูสเตอร์” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

สาธารณสุข

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการติดตามการเคลื่อนย้ายของคน ทั้งทางรถและการเดินเท้า หลังประกาศลดการเดินทางตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว พบว่าแนวโน้มลดลง แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว เช่น กทม.และชลบุรี ปีที่แล้วลดลงได้กว่า 80% ส่วนปีนี้ได้เพียงกว่า 70% จึงต้องขอความร่วมมือเพื่อช่วยกันลดลงความเสี่ยง ตามประกาศ ศบค. ที่ปรับเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีเหลือง) 11 จังหวัด เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 3 สิงหาคม 2564

ดังนั้น 2 สัปดาห์จากนี้ ถือเป็นเวลาทองที่เราต้องร่วมมือกันทำให้การแพร่เชื้อน้อยลงมากที่สุด โดยออกจากบ้านให้น้อยที่สุด ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เน้นกิจกรรมที่ทำทางออนไลน์ เพิ่มความเข้มงวดขณะอยู่บ้านป้องกันการติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะที่มีผู้สูงอายุและโรคประจำตัว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำให้กระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งในเดือนนี้มีวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์อีก 1.5 ล้านโดส โดยหลายจังหวัดที่มีการระบาดมากจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ส่วน กทม.ยังมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง

สาธารณสุข

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ส่งมาในภาวะแช่แข็งในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส บรรจุในถาดขนส่งวัคซีน 1,170 โดสต่อถาด รวมแล้วคือจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่ปรากฎบนเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐ จะจัดสรรให้กับ

  1. บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 7 แสนโดส ตามความสมัครใจ
  2. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้น ไปในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 645,000 โดส
  3. ชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยในประเทศไทย และคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ 150,000 โดส ซึ่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศทำระบบลงทะเบียนไว้
  4. สำหรับวิจัย 5,000 โดส ในการศึกษาการฉีดสลับ ศึกษาภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน
  5. สำรองไว้ 3 พันกว่าโดสสำหรับพื้นที่ระบาดใหม่ เช่น พื้นที่พบสายพันธุ์เบตา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK