COVID-19

จับตา! ‘นายกฯ’ ประชุมศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ คาดยืด ‘ล็อกดาวน์’ หลังโควิดพุ่งไม่หยุด

นายกฯ เรียกประชุมศบค.ชุดใหญ่ พรุ่งนี้  คาดขยายเวลา “ล็อกดาวน์” พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด  ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วัน  หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

วันที่ (31 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ยอดผู้ติดเชื้อ และยอดผู้เสียชีวิต ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับวันที่ 2 สิงหาคมนี้ จะครบกำหนด 14 วัน ที่ได้ประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ  ศบค.ชุดใหญ่ ในเวลา 13.00 น. วันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.)

การประชุมผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่า จะมีการพิจารณาให้คงมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ ที่มีความรุนแรงของการระบาดต่อไปอีก

IMG 20210727165344000000

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า มาตรการล็อกดาวน์ ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 28 โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ที่จะครบกำหนดเวลา 14 วัน หรือวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เบื้องต้นยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากข้อกำหนดฉบับดังกล่าว กำหนดระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องไว้อย่างน้อย 14 วัน โดยไม่ได้ระบุวันสิ้นสุดข้อกำหนดไว้ ดังนั้น ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด ขณะนี้ยังผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง ทาง ศบค.จึงไม่ต้องพิจารณาขยายเวลาล็อกดาวน์ แต่เป็นการล็อกดาวน์ต่อเนื่องไป และให้คงการปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ที่มีอยู่ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

แหล่งข่าวจาก ศบค. กล่าวว่าการประชุมศบค.ชุดใหญ่ พรุ่งนี้  ที่ประชุมจะปรับเพิ่มมาตรการจากกำหนดของเดิมเล็กน้อย โดยจะพิจารณาขยายเวลาล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วัน โดยต้องฟังคณะแพทย์ที่จะเป็นผู้ประเมิน และเสนอขึ้นมา ทั้งนี้ การขยายล็อกดาวน์ เพราะเป็นห่วงเรื่องเคลื่อนย้ายข้ามเขตพื้นที่ที่เป็นการกระจายเชื้อออกไปยังพื้นที่อื่น

ส่วนแผนการกระจายวัคซีนเดือนส.ค. จะเปลี่ยนที่หมายไปพื้นที่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดหนักอื่นๆ หากการฉีดวัคซีนใน กทม.เป็นไปตามเป้า โดยยึดเกณฑ์กลุ่ม 608 คือกลุ่ม ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ส่วนข้อเสนอให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคเพิ่มจากสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าวไม่สามารถฉีดยี่ห้ออื่นได้ แต่ทีมแพทย์เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ฉีดไปแล้วจะปลอดภัย จึงยังไม่กล้าฉีดให้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo