COVID-19

‘บิ๊กตู่’ หารือผู้บริหารรพ.เอกชนเตรียมความพร้อม Hospitel รับมือโควิด

“บิ๊กตู่” ประชุมออนไลน์หารือผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน 21 แห่ง เตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ รับมือโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลเอกชน ผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมสัญญาณจากบ้านพัก

บิ๊กตู่

โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทีมแพทย์สาธารณสุข และผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน 21 แห่ง เข้าร่วม

เตียงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยที่ประชุม ได้รับทราบรายงานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข อนุมัติ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospital ของโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีจำนวน 117 แห่ง และพบว่าใน 21 โรงพยาบาลเอกชน มีการครองเตียงร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อาทิ โรงพยาบาลธนบุรี 1,300 เตียง โรงพยาบาลวิภาราม 600 เตียง โรงพยาบาลวิชัยเวท 1,500 เตียง โรงพยาบาลกรุงเทพ 71 เตียง โรงพยาบาลปิยะเวท 3,000 เตียง โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย 2,200 เตียง โรงพยาบาลลาดพร้าว 700 เตียง ทั้งหมดใช้งานร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ มีจำนวนเตียง 11,141 เตียง ใช้งาน 9,221 เตียง เหลือ 1,920 เตียง ในส่วนโรงพยาบาลสนาม 508 เตียง ใช้งานร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ยังเหลือเตียงโรงพยาบาลสนามอีก 15 เตียง และเหลืออีก 10 เตียงในโรงพยายาบาล และโรงพยาบาลจุฬารัตน์พร้อมในเครือ คงเหลือ 400 เตียง ที่จะรองรับผู้ป่วยโควิด 19

บิ๊กตู่

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเจ้าของและตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางการรับผู้ป่วย การรักษา และการลดการติดเชื้อ ซึ่งต่างยอมรับว่าต้องเพิ่มเตียงสีเหลือง สีแดง ห้องความดันลบ และต่างนำเสนอปัญหาที่คล้ายกันคือ capacity การรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ มีข้อกังวลว่าแม้จะขยายเตียงมากเท่าไหร่ จะรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอหรือไม่ หากการควบคุมการระบาดยังไม่เป็นผล โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญ

เร่งนำเข้าวัคซีน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่ารัฐบาลเร่งรัดสนับสนุนการนำเข้า จัดหาวัคซีนทั้งของรัฐและเอกชน โดยวัคซีนหลักของรัฐบาลคือ ซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และกำลังดำเนินการด้านเอกสารของ วัคซีนสปุตนิก วี ส่วนวัคซีนทางเลือกที่ เอกชนซื้อผ่านราชวิทยาลัย เช่น ซิโนฟาร์มที่มีเข้ามาแล้ว โมเดอร์นา ที่จะเข้ามาไตรมาส 4 ซึ่งขึ้นกับบริษัทต้นทาง แต่รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สุดท้ายเห็นว่าทุกส่วนต้องทำงานเชิงรุก เช่น การขยายเตียง เชิงรับ เช่น การตรวจสอบคัดกรอง ต้องมีการบูรณาการงานร่วมกัน ชีวิตประชาชนคนไทยต้องได้รับการดูแล ข้อกฏหมายที่ติดขัดจะแก้ไข ให้การบริหารจัดการโรคทำงานได้ วัคซีนทางเลือกของเอกชนจะเร่งและสนับสนุนให้มีการนำเข้า โดยวัคซีนแจกจ่ายให้ทั่วถึงตามสัดส่วนประชากรและการระบาด รวมทั้งชุดตรวจเชื้อ ด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit ( ATK) ที่จะมีการแจกจ่ายไปตรวจ แต่ตรวจแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไรต้องให้ชัดเจน ทั้งนี้ ขอร่วมมือกัน คุยกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน “ผมรักทุกคนนะครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo