COVID-19

เปิดผลวิจัย ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม อัตราเสียชีวิตสูงกว่าใช้วัคซีน mRNA

เปิดผลวิจัย ประเทศฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม อัตราการเสียชีวิตสูงการใช้วัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก ชี้เป็นเหตุผลสำคัญ ทำไมต้องฉีด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้าก่อน

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก “Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล” ผลงานวิจัยเปรียบเทียบประเทศที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และฉีดวัคซีนกลุ่ม mRNA 2 เข็ม พบอัตราการเสียชีวิตของประเทศใช้วัคซีนเชื้อตาย สูงกว่าค่อนข้างมาก โดยระบุว่า

ฉีดวัคซีนเชื้อตาย

“วัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.5 ล้านโดสจากอเมริกา มีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทุกครั้งที่บุคลากรด่านหน้าหนึ่งคนป่วย นั่นหมายถึงผู้ป่วยนับสิบคนนับร้อยคน ที่จะขาดการดูแล

ทำไมต้องฉีด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้าก่อน?

วันนี้เรารู้แล้วว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรับมือกับโควิด-19 เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ และวันนี้ “ประสิทธิภาพวัคซีน” ก็มีความสำคัญมากกว่าปี 2563 ปีแรกที่โควิด-19 ระบาด เพราะวันนี้เรามีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อแล้ว ทุกประเทศกำลังมุ่งหน้า “เปิดประเทศ” สร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อ “อยู่กับโรค” ให้ได้ ไม่ได้คาดหวังแค่วัคซีนที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์เท่านั้น

ประสบการณ์จากทั่วโลกบอกเราว่าอะไร?

ผู้เขียนนำข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data สองตัว ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 คือ อัตราการตายต่อวันจากโควิด-19 เฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง มาพล็อตเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว นับเฉพาะประเทศที่อัตราส่วนนี้เกินร้อยละ 20 (ดังนั้นจึงไม่แสดงประเทศที่มีสัดส่วนประชากรฉีดครบน้อยกว่านั้น เช่น ไทย )

ทั้งนี้ ได้จำแนกประเทศต่าง ๆ ตามลักษณะของวัคซีนที่ใช้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. ใช้วัคซีนเชื้อตาย (เช่น ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม) เป็นหลัก

2. ใช้วัคซีนชนิด mRNA พอๆ กับชนิดอื่น

3. ใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก

นำข้อมูลมาพล็อตเป็นกราฟได้ดังภาพ (เครดิตภาพประกอบ: น้ำใส ศุภวงษ์)

วัคซีน 4

แผนภาพนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า ในบรรดาประเทศที่ประชากรได้วัคซีนครบสองเข็ม เกินร้อยละ 20 และใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก ไม่มีประเทศใด ที่มีอัตราการตายต่อวันเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง สูงกว่า 1 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน

ในขณะที่ประเทศ ชิลี หมู่เกาะซีเชลส์ อุรุกวัย และ มองโกเลีย ล้วนมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม สูงกว่าร้อยละ 50 และใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก แต่มีอัตราการตายต่อวันสูงกว่าประเทศที่ใช้ mRNA เป็นหลัก ค่อนข้างมาก

ผู้ดำเนินนโยบายรัฐที่ทำงานเพื่อประชาชน เมื่อเห็น “ข้อมูลเชิงประจักษ์” เช่นนี้ ย่อมต้องรีบจัดหาวัคซีน mRNA มาให้กับบุคลากรด่านหน้า และประชาชนอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลทุกประเทศในแผนภาพนี้ ที่มีอัตราการตายสูงกว่า 1.5 ในล้านคน ใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก ได้แก่ คูเวต กัมพูชา มองโกเลีย อุรุกวัย ชิลี และ หมู่เกาะซีเชลส์ ล้วนเริ่มทยอยฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นวัคซีนหลักหรือวัคซีน booster (เข็มสาม) ให้กับประชากรของตัวเองแล้ว

ไม่จำเป็นต้องรออ่านและตีความผลการวิจัยภูมิคุ้มกันใด ๆ ทั้งสิ้น

(อนึ่ง แผนภาพนี้ไม่แสดงข้อมูลของประเทศจีน เนื่องจากอัตราส่วนประชากรฉีดครบสองเข็มล่าสุดที่เว็บไซต์ Our World in Data รวบรวมได้ คือร้อยละ 15.5 ณ วันที่ 10 มิถุนายน ไม่พบข้อมูลที่ใหม่กว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก กำลังจะอนุมัติวัคซีนชนิด mRNA ที่บริษัทจีน ฟูซุ่น ฟาร์มา ร่วมพัฒนากับ ไบออนเทค ของเยอรมนี และประกาศฉีดให้ประชากรทั่วประเทศฟรีเป็นเข็มสามเช่นกัน)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo