COVID-19

‘หมอประสิทธิ์’ เปิดที่มา สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด 3 องค์ประกอบ ลดเสียชีวิต ติดเชื้อ

สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด หมอประสิทธิ์ เผยที่มาของการใช้วัคซีนเชื้อตาย ตามด้วยไวรัลเวคเตอร์ กับผลกระตุ้นภูมิต้านทาน พร้อมเปิด 3 องค์ประกอบวัคซีนลดติดเชื้อ เสียชีวิต

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด หรือฉีดไขว้ เป็นผลมาจาก ระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อการติดเชื้อไวรัส โดยระบบการทำงานภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา อาศัยการทำงานเม็ดเลือดขาว 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เรียกว่า กลุ่มเม็ดเลือดขาว T cells และ อีกกลุ่มเรียกว่า เม็ดเลือดขาว B cells

สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด

กรณีที่ไวรัสเข้าไปร่างกาย และไปกระตุ้นของ B cells ก็จะสร้างแอนติบอดี เพื่อไปหุ้มไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ ภูมิคุ้มกันแบบนี้ เป็นหนึ่งในกลไกหลักของวัคซีนส่วนใหญ่ใช้ ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีกลไกเช่นนี้

ดังนั้น วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนโปรตีนเบส จะมีกลไกหลักเหล่านี้ ขณะเดียวกันยังมีกลไกกระตุ้นที่เรียกว่า T cells เมื่อไหร่ที่มีการติดเชื้อไวรัส จะไปฆ่าเซลล์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งระยะยาว T cells จะทำหน้าที่สำคัญ ขณะนี้มีอยูในกลุ่มไวรัลเวคเตอร์ mRNA จะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิฯ ได้สองอย่าง แต่วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนโปรตีนเบสก็มี แต่อาจไม่มากเท่า

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการแนะนำการฉีดวัคซีนต่างชนิด โดยเข็มที่ 1 ซิโนแวค ซึ่งเป็นเชื้อตาย ที่กระตุ้น B cells ได้ดี แต่กระตุ้น T cells อาจไม่ดีนัก ดังนั้น หากเอาวัคซีนอีกประเภทที่กระตุ้น T cells ได้ดีมาใช้ ซึ่งก็คือไวรัลเวคเตอร์ อย่างแอสตร้าเซนเนก้า จึงให้วัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 และ 3 สัปดาห์ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯเข็ม 2

“ทั่วไป 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น เบ็ดเสร็จใช้เวลา 5 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ส่วนอีกสูตร คือ การฉีดแอสตร้าฯ ซึ่งกระตุ้นได้ทั้ง T cells และ B cells แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแอสตร้าฯ ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 จะเว้นระยะถึง 10-12 สัปดาห์ และหลังจาก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง หมายความว่า ต้องใช้เวลารวมประมาณ 12-14 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขงานวิจัยต่างประเทศว่า แอสตร้าฯ เข็มเดียว ไม่พอในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา จึงต้องฉีดสองเข็ม ทำให้มีคำถามว่า ควรฉีดให้ใกล้ขึ้นหรือไม่

vaccine 1

ประสิทธิภาพ สูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็ม1-2

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ระหว่างเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 6 สัปดาห์มี พบว่ามีประสิทธิภาพ 55% ยิ่งเว้นห่างออกไป มีแนวโน้มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างห่างกัน 6-8 สัปดาห์ ภูมิฯ 60% หากฉีดห่างกัน 9-11 สัปดาห์มีประสิทธิภาพ 64% และหากห่างกันมากกว่า 12 สัปดาห์มีประสิทธิภาพ 81%

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเว้นระยะห่างไปถึง 10-12 สัปดาห์ แต่กว่าจะมีภูมิคุ้มกัน ต้องใช้เวลามาก จึงต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ มาประกอบกัน

ปัจจุบัน ในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค พบว่า ยังมีอัลฟา(อังกฤษ) และเดลตากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเบตา อยู่บ้างส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนแลมด้ายังไม่มีเข้ามา

ขณะที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัจจุบัน มีวัคซีนใหญ่ ๆ อยู่ 4 แพลตฟอร์ม คือ วัคซีนชนิด mRNA วัคซีนไวรัล เวคเตอร์ วัคซีนโปรตีน ซับยูนิต ซึ่งยังไม่ได้เข้ามา และ วัคซีนเชื้อตาย ข้อมูลต่าง ๆ มีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตอนนั้นยังไม่มีสายพันธุ์เดลตา ซึ่งช่วงนั้นต้องหาวัคซีนให้ได้โดยเร็ว เพราะเริ่มมีการแพร่กระจายโรค และเวลานั้น วัคซีนแอสตร้าฯ ยังไม่ได้ตามต้องการ ขณะนั้นซิโนแวคก็ช่วยเราได้ดี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนที่ไทยฉีด คือ วัคซีนรุ่นที่ 1 และกำลังมองหาวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทกำลังพัฒนา เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยกลุ่มหนึ่งเป็นวัคซีนใหม่เลย ส่วนใหญ่ยังไม่เข้ามา ยังอยู่ระยะที่ 2 โดยไทยกำลังติดต่อกับบริษัทเพื่อเจรจาวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการอยู่

“ที่สำคัญวัคซีนรุ่นที่ 2 ไม่มาปลายปีนี้แน่ แต่อย่างเร็วมาเป็นต้นปีหน้า แต่อีกหลายเดือนนับจากนี้จะทำอย่างไร ให้คนไทยปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า รุ่นที่ได้ดี ณ เวลานี้ คือ เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นได้ทั้ง T cells และ B cells”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

อีกประการสำคัญคือ ต้องฉีดวัคซีนให้มากพอ จึงจะช่วยลดการติดเชื้อ ลดการเสียชีวิต ซึ่งการจะฉีดวัคซีนได้มากพอนั้น มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ

1. วัคซีนต้องมากพอ

2. มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากพอ คือ ฉีดวันละ 3-4 แสนคน

3. ต้องมีคนมาให้ฉีด

ดังนั้น ขอย้ำประชาชนคนไทย เมื่อมีการจับคู่วัคซีนสองชนิด และมีหลักฐานทางวิชาการ ซึ่งเมื่อกรมควบคุมโรคมีการจัดวัคซีนในปริมาณเพียงพอ ขอความกรุณามารับวัคซีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo