COVID-19

พยาบาลเครียด ติดเชื้อ-เสียชีวิต ร้องรัฐ เพิ่มความคุ้มครอง 10 เท่า ขอวัคซีน mRNA

สหภาพพยาบาลฯ ร่อนแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาล ดูแลพยาบาล 7 ประเด็น ชี้ความเครียดสูง กดดัน สูญเสียจากโควิด ขอเพิ่มความคุ้มครอง เพิ่มสวัสดิการ ฉีดวัคซีน mRNA

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 โดยระบุว่า ประเทศไทยมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โรคโควิด-19 ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทำให้เกิดปัญหาภาระหนัก ขาดอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่มีความเครียดสูง มีพยาบาลฆ่าตัวตาย

สหภาพพยาบาลฯ

ความกดดันต่าง ๆ จากการขาดสวัสดิการ การช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ขาดอุปกรณ์การป้องกันชีวิต การไม่ได้รับวัคซีนชนิดที่ป้องกันของบุคลากร ปัญหาเหล่านี้บั่นทอนกำลังใจ พยาบาลและเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ

โดยเฉพาะในรอบการระบาดเดือนเมษายน-10 กรกฎาคม 2564 มีรายงานพยาบาลเสียชีวิต 3 ราย ฆ่าตัวตาย 1 ราย โดยผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 880 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรหญิง โดยร้อยละ 54 เป็นพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล รองลงมาคือ วิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย

ในจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ติดเชื้อโควิด 880 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และมี 5 ราย ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ 2 ราย มีประวัติการรับวัคซีน (1 ราย ได้รับซิโนแวค 1 เข็ม และอีก 1 ราย ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม) จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา

ดังนั้น สหภาพพยาบาลฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล มีทั้งหมด 7 ประเด็น คือ

1. ขอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข ผู้ได้รับอันตราย หรือการเจ็บป่วย เพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ และหรือจัดตั้งกองทุนสวัสดิการบุคลากรสาธารณสุข

2. ปรับแก้ไข ออกกฎ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้แก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ได้รับความเสียหาย จากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 เพิ่มความคุ้มครองจากเดิมเป็น 10 เท่า เช่น เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด เป็นเงิน 4 ล้านบาท

สหภาพพยาบาล

3. ขอให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีน mRNA ครอบคลุมให้แก่พยาบาลทุกคน และเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคน จัดสรรภายในเดือน กันยายน 2564 นี้

4. เพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทนบำเหน็จกรณีพิเศษ แก่พยาบาลทุกคนที่ป่วย หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่

5. เพิ่มเวลาราชการทวีคูณ แก่พื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด

6. เพิ่มความก้าวหน้า โดยขยายตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญ เพิ่มจากเดิม 100%

7. จัดหาอุปกรณ์การป้องกันชุดที่เพียงพอ และทั่วถึงทุกจุดบริการทั่วประเทศ ขอให้จัดสรร

  • ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชุด Surgical Gown และชุด Coverall
  • ชุด PAPR ชุดป้องกันเชื้อพร้อมเครื่องกรอง
  • ชุด PAPR ชุดเกราะสู้โควิด หรือชุดอุปกรณ์ปกป้องระบบทางเดินหายใจขั้นสูง
  • อุปกรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า สามารถใช้สำหรับรพ. รพ.สนามอย่างปลอดภัย

การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดในประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคลากรสาธารณสุขและครอบครัว ให้มีความสุขและปลอดภัย มั่นคง เพิ่มขวัญกำลังใจ สร้างความมั่นใจ ในการเผชิญกับภาระงาน ความเครียด ในการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo