COVID-19

กรมการขนส่งทางราง ออก 4 มาตรการคุมโควิดรับล็อกดาวน์

กรมการขนส่งทางราง ออก 4 มาตรการ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) 

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยหลังลงนามมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ฉบับที่ 11 ว่าจากสถานการณการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 28) ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว

กรมการขนส่งทางราง

ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ระบบขนส่งทางราง จึงออกประกาศมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติเพิ่มเติม จากฉบับก่อนหน้า ดังนี้

กรมขนส่งทางราง

1. กำกับดูแลให้มีผู้โดยสารภายในขบวนรถ ไม่ให้เกินร้อยละ 50 ของความจุสูงสุด โดยบริหารจัดการพื้นที่ภายในขบวนรถให้ผู้โดยสารเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลบริเวณที่นั่งแบบที่เว้นที่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการยืนประมาณ 0.50 – 1 เมตร และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้โดยสารทราบและถือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่หันหน้าเข้าหากัน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีและงดการสนทนาภายในขบวนรถ ให้ผู้โดยสารล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังการใช้บริการทุกครั้ง เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

2. กรณีรถไฟโดยสารเข้าและออกพื้นที่จังหวัดที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้มีจุดคัดกรองและจัดเจ้าหน้าที่ในการตรวจคัดกรองผู้โดยสารโดยเคร่งครัดตลอดเวลา โดยกำหนดให้ผู้โดยสารจะต้องเตรียมเอกสารยืนยันตนพร้อมแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง เอกสารยืนยันความจำเป็นในการเดินทางตามที่ทางราชการกำหนด และเอกสาร ต.8-คค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและขอความร่วมมือในการงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีเหตุจำเป็น

3. ให้เพิ่มความเข้มงวดและรัดกุม ในการปฏิบัติมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ การตรวจคัดกรองอุณหภูมิของผู้ปฏิบัติงานก่อนปฏิบัติงาน กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานสวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันการสัมผัสโรคตามความเหมาะสม การใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรองเชิงรุก เป็นต้น

4. ให้รายงานผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรค (ถ้ามี) ให้ทราบผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ Anti COVID-19 เพื่อเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผล ณ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดยหวังว่าการออกประกาศดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 และช่วยให้ประชาชนปลอดภัยห่างไกลจากการติดเชื้อต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo