COVID-19

รู้จัก ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ยาสำคัญรักษาผู้ป่วยโควิด ไทยมีพอใช้แค่ไหน?

“ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ในการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในไทย ระลอกใหม่ เดือน เมษายน ทั้งการขาดแคลนยาในบางพื้นที่ เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่าย และปริมาณยาที่ต้องใช้มากขึ้น จนยาไม่เพียงพอ และการปรับแนวทางการให้ยาแก่ผู้ป่วย

ปัจจุบัน ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโค17วิด-19 ตามแนวทางการดูแลรักษาของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยานี้ มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี

จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วยโควิดในไทย พบว่า การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์  ที่ใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นด้วยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรง จากการติดเชื้อโควิด

ที่ผ่านมา ยาชนิดนี้ เป็นยาต้านไวรัส ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus) หลายชนิด  ซึ่งไทยได้อนุมัติให้ใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ป่วยโควิด เป็นกรณีพิเศษ โดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำการวิจัย และพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว

ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย และยาถูกเปลี่ยนแหล่งภายในเซลล์ เป็นสารฟาวิพิราเวียร์ อาร์ทีพี  โดยยาชนิดนี้มีผลป้องกันการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส แต่ไม่มีผลยับยั้งการสังเคราะห์ RNA หรือ DNA ของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ฟาวิพิราเวียร์

ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับ “ฟาวิพิราเวียร์”

แพทย์จะพิจารณาเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วย ที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วย ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว อย่าง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึง ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนั้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยให้แนวทางการให้ยาชนิดนี้ กับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เอาไว้ โดยแบ่งตามอาการของผู้ป่วย ดังนี้

  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม จะไม่มีการให้ยาเฉพาะ และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ
  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยง  สามารถให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ควบคู่กับการให้ยาสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรง จะสามารถลดอาการรุนแรงได้
  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน ปอดอักเสบรุนแรง จะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ สเตียรอยด์ และโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ควบคู่กันไป

ฟาวิพิราเวียร์

ใช้วันละ 4-5 หมื่นเม็ด

ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ

  • ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
  • ผู้ป่วยเด็ก จะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตับอักเสบ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยบอกไว้ว่า ไทยมีอัตราการใช้งานยาตัวนี้อยู่ที่ประมาณวันละ 50,000 เม็ด ซึ่งองค์การเภสัชกรรม จะทำการสำรองยาให้มีสำรองไว้ 2 ล้านเม็ดโดยตลอด และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 3 ล้านเม็ดมาแล้ว

มีเพียงพอแค่ไหน

ครั้งนั้น  นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่า ได้มีการกระจายยาไปยังโรงพยาบาลในทุกจังหวัด เพื่อให้สะดวกในการเบิกจ่าย จากเดิมที่จะมีการสำรองไว้ที่เขตสุขภาพ ตามเมืองใหญ่เท่านั้น

ฟาวิพิราเวียร์

ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ก็กระจายไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัด กทม. หรือโรงพยาบาลทหารและตำรวจ อีกทั้งมีการสำรองไว้ในโรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทลด้วย

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างสวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บริษัท ปตท. เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยา Favipiravir ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูกโดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการนำเข้ามากถึง 95%

อย่างไรก็ตาม มากไปกว่านั้น ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทาง องค์การเภสัชกรรม คาดว่า ฟาวิพิราเวียร์ ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์  ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก

“ฟาวิพิราเวียร์” ในต่างประเทศ

บทความเรื่อง “การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ ” ของหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ค้นพบโดยบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน มีนาม  2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

ฟาวิพิราเวียร์

มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2557-2559 และในการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อุบัติใหม่ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว และ สำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของจีน ให้การรับรองว่า ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา  สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เพิ่งจะเริ่มโครงการทดสอบทางคลินิก ในการใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วย ที่พักฟื้นจากโควิด-19 และสถานรักษาตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล โดยโครงการได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครผู้ป่วยโควิดเข้าร่วมการรักษาจากทางบ้าน

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดที่ 6 ที่เข้าสู่โครงการทดลองรักษาทางคลินิกโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยของสหราชอาณาจักร ภายหลังนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและคณะกรรมการโครงการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจนำตัวยาชนิดนี้เข้าสู่การทดลองรักษา

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, บีบีซี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo