COVID-19

รวมไว้ที่นี่ ‘แลมบ์ดา’ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ WHO ประกาศเฝ้าระวัง วัคซีนชนิดไหนเอาอยู่

ชื่อของ ไวรัสโควิดสายพันธ์ุ แลมบ์ดา เริ่มเป็นที่จับตามากขึ้น ในวงการสาธารณสุขโลก โดยเฉพาะกระแสข่าวที่ว่า อันตรายกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังระบาดหนักทั่วโลกในขณะนี้

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้โควิดสายพันธุ์ แลมบ์ดา (Lambda) เป็น “สายพันธุ์ที่อยู่ในประเภทต้องให้ความสนใจ” (Variant of Interest; VOI) เนื่องจากความชุกที่เพิ่มขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ มีโอกาสติดต่อแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม

แลมบ์ดา

สำหรับสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เนื่องจากยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ต่างจากสายพันธุ์เดลตา ที่ถูกจัดอยู่ในประเภท “ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” (Variant of Concern: VOC) เพราะมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก

เปิดที่มา แลมบ์ดา C.37

ไวรัสโควิดสายพันธ์ Lambda ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ ประเทศเปรู มีชื่อรหัสไวรัสทางวิทยาศาสตร์เป็น “C.37” ปัจจุบันพบการระบาดแล้วในกว่า 30 ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป 11 ประเทศ แถบอเมริกาใต้ 10 ประเทศ โซนเอเชีย 2 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล และตุรกี ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบรายงานการระบาดของสายพันธุ์นี้

ไวรัสโควิดสายพันธุ์ Lambda มียีนกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนในหลายตำแหน่ง โดยพบการกลายพันธุ์ถึง 7 จุดบนโปรตีนที่เป็นส่วนหนามของไวรัส เมื่อนำไปเทียบกับพันธุกรรมของไวรัสโควิดดั้งเดิม ซึ่งพบครั้งแรกที่นครอู่ฮั่นของจีน

การกลายพันธุ์บางลักษณะ ที่พบในสายพันธุ์นี้ มีศักยภาพสูงที่จะทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่ระบาด เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โปรตีนหนามที่แข็งแรงขึ้น ทำให้สามารถลดทอนประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัว ที่ใช้เพื่อยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย

วัคซีนชนิดไหน ต้าน Lambda ไหว

ผลการศึกษาในประเทศชิลี ระบุว่า วัคซีนประเภท mRNA” เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา สามารถช่วยกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ในแง่ของประสิทธิภาพจะยังสูงคงเดิมหรือลดลงหรือไม่ ยังไม่มีผลการศึกษาเป็นตัวเลขระบุออกมาได้ชัดเจน

shutterstock 1647268288 1

ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ของสหรัฐ เผยแพร่ผลการศึกษา ไวรัสสายพันธุ์ Lambda ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ bioXiv พบว่า สายพันธุ์นี้มีความสามารถในการต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีน สูงกว่าไวรัส SARS-CoV-2 แบบดั้งเดิม 3.3 เท่า

ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยระบุว่า แม้ไวรัสกลายพันธุ์ Lambda จะทำให้แอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA อย่าง ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ผลปรากฏว่าไวรัสมีความสามารถต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีนต่ำลงกว่าเดิม โดยอยู่ในเกณฑ์ที่วัคซีน mRNA ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป จะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้

ยืนยันยังไม่เข้าไทย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงโควิด-19 สายพันธุ์ Lambda ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้ ว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดที่ได้มาตรฐานโลก ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวตรวจได้เกือบพันตัวอย่างต่อสัปดาห์ ถ้า Lambda เข้ามาก็ตรวจเจอ แต่ตอนนี้ยังไม่มีในประเทศไทย

“สายพันธุ์นี้ ขณะนี้เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล แต่เนื่องจากมีการระบาดสายพันธุ์นี้ ในหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ จึงต้องเพ่งเล็งผู้เดินทางมาจากบริเวณดังกล่าว”นพ.ศุภกิจ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo