COVID-19

‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ เข้าไทยอีก 16 ล้านเม็ด ก.ค.นี้ สธ.มั่นใจพอรับมือโควิด

สธ. จัดหายาฟาวิพิราเวียร์อีก 16 ล้านเม็ดภายใน กรกฎาคมนี้ เปิดสต็อกยังมี ฟาวิพิราเวียร์ 4 ล้านเม็ด เรมดิซิเวียร์ 1,613 ไวอัล มั่นใจพอรับมือโควิด-19 เตียงผู้ป่วยสีแดงเหลือว่าง 10%

นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข และนายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการบริหารทรัพยากรยา เวชภัณฑ์ และเตียงในสถานการณ์โรคโควิด 19 จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

ยาฟาวิพิราเวียร์อีก

นายแพทย์กรกฤช กล่าวว่า ขณะนี้มี ฟาวิพิราเวียร์ 4 ล้านเม็ด และยาเรมดิซิเวียร์ 1,613 ไวอัล ถือว่ามีเพียงพอสนับสนุนให้กับพื้นที่ตามปริมาณการใช้จริง อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีฟาวิพิราเวียร์ ทยอยเข้ามาอีก 16 ล้านเม็ด ซึ่งการส่งมอบยังเป็นไปตามแผน ถือว่าเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสานผู้ผลิตในต่างประเทศไว้แล้ว

สำหรับอุปกรณ์ป้องกัน มีการจัดซื้อโดยงบประมาณเงินกู้ เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีอุปกรณ์ป้องกันในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และป้องกันภาวะขาดแคลนในประเทศ โดยขณะนี้อุปกรณ์ป้องกันทุกรายการมีเพียงพอ

อุปกรณ์ป้องกัน 10 รายการ ได้แก่

  • หน้ากาก N95
  • ชุด Coverall & Gown
  • Shoe cover
  • Hood cover
  • Face shield
  • Leg cover
  • Disposable cap
  • Surgical mask
  • Nitrile glove
  • Disposable glove

สธ. 3

ด้านนายแพทย์วิทูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการเตียง ต้องทำให้ปริมาณเตียงในระดับต่าง ๆ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษามีความสัมพันธ์กัน สำหรับ กทม.พบว่า เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวว่าง 20 ถึง 24% เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Cohort Ward) ว่าง 6% ห้องแยกว่าง 13% และเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงโดยรวมว่าง 10%

เปิดแผนบริหารจัดการเตียง สำหรับผู้ป่วยแต่ละระดับ

  • เพิ่มสมรรถนะเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวให้สูงขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้เพิ่มมากขึ้น โดยทดแทนเตียงสำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว
  • จะมีระบบให้กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สามารถดูแลรักษาที่บ้าน หรือที่ชุมชนแทน ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิด
  • ปรับเพิ่มเตียงสีแดงมากขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้
  • การลดจำนวนผู้ป่วยที่จะกลายเป็นสีแดง เป็นเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการ

การจะลดจำนวนผู้ป่วยสีแดงลงนั้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่า กลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค การระดมฉีดวัคซีนทั้ง 2 กลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุดครอบคลุม 80% ของประชากรในกรุงเทพมหานคร จะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีภูมิต้านทานที่จะลดระดับของความรุนแรงของโรคลงได้

ขณะที่สถานการณ์เตียงทั่วประเทศไม่รวม กทม. พบว่า เตียงสีเหลืองลดลง มีอัตราการใช้สูงที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับประเภทของผู้ป่วยที่เดินทางจาก กทม. กลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา ส่วนเตียงสีแดงในภูมิภาคยังเหลือประมาณ 30%

ด้านภาพรวมทั้ง 12 เขตสุขภาพ หลายเขตเริ่มใช้ทรัพยากรเกิน 80% แต่ทุกจังหวัดมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อป้องกันการขาดแคลนเตียง โดยจะบริหารอย่างดีที่สุด เพื่อดูแลผู้ป่วยในช่วงนี้ สำหรับทรัพยากรอื่น ๆ มีการเตรียมอย่างเพียงพอ และย้ำว่าการปฏิบัติตามข้อแนะนำตามมาตรการเพื่อควบคุมโรค รวมถึงการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จะทำให้สถานการณ์จะดีขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo