COVID-19

‘หมอประสิทธิ์’ จี้รัฐเร่งบริหารวัคซีน อย่ามัวรีรอ เจอ ‘เดลตา’ จู่โจม ไม่ทันการณ์

“หมอประสิทธิ์” จี้รัฐมองอนาคต เร่งเจรจาหาวัคซีนต้านเดลตา อย่ามัวแต่รอวัคซีนทางเลือก อาจไม่ทันการณ์เดลตาจู่โจม พร้อมหนุนกระตุ้นเข็มที่ 3 เสริมภูมิคุ้มกัน บุคลากรทางการแพทย์

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลต้องมองอนาคต ด้วยการพิจารณาวัคซีนรุ่น 2 ที่ขณะนี้ยังไม่มี จึงต้องเร่งเจรจาเพื่อนำเข้ามาฉีดให้ประชาชน เนื่องจากฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยสายพันธุ์เดลตา ก็อาจไม่ทันการณ์

หมอประสิทธิ์

ส่วนกรณี การฉีดวัคซีนไขว้ ในต่างประเทศมีการศึกษา และประเทศไทยตอนนี้ ก็มีการศึกษาจาก 4-5โรงเรียนแพทย์เช่นกัน และคาดว่าผลจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ในส่วนของศิริราชก็มีการศึกษาวิจัยเช่นกัน เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว ทางฝ่ายนโยบายก็ต้องมาพิจารณา ทั้งการจับคู่วัคซีนที่ดีกับคู่ที่มี ว่าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร

สำหรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์นั้น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรง โดยแนวคิดนี้จะขยายวง ต่อเมื่อมีวัคซีนมากพอ ซึ่งระยะเวลาอันใกล้นี้เดลตาจะเพิ่มเป็น 80-90% เหมือนประเทศอื่น ๆ ซึ่งบางประเทศเริ่มพูดว่า น่าจะเพิ่มความรุนแรงด้วย จึงต้องเร่งบริหารวัคซีนให้มากและฉีดให้เร็ว

“เท่าที่ทราบนโยบายของประเทศตอนนี้ ไม่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องเสี่ยง จึงต้องการให้ได้รับวัคซีนทั้งหมด โดยบุคลากรด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในทรัพยากรสุขภาพ หากติดเชื้อ คนดูแลผู้ป่วยก็น้อยลงด้วย”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีบุคลากรในระบบสุขภาพทั้งหมดประมาณ 7 แสนกว่าคน กรณีฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ และยังพบผลข้างเคียง และมีบางรายเสียชีวิตนั้น ต้องดูตัวเลขคนฉีดวัคซีนทั้งหมดเท่าไหร่ คนที่รุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ และเทียบกับคนทั่วไป ต้องเอาข้อมูลมาพิจารณาทั้งหมด

วัคซีน 2

ในส่วนของการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ประชาชนทั่วไปนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดข้อมูลในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไฟเซอร์ ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่า อยากให้คนอเมริกันฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 แต่รัฐบาลดูข้อมูลหมดได้ยับยั้งไม่ให้ฉีดเข็ม 3 เพราะคนอเมริกันอีก 40 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว เป็ยหลักการเดียวกันในประเทศไทย

ทั้งนี้ ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ต้องบริหารสองอย่างคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีด และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องได้รับการฉีด อย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการ ส่วนจะใช้คู่ผสมใดนั้น ก็ต้องดูข้อมูลวิชาการ และในสต็อกมีในการบริหารจัดการแค่ไหน

ขณะเดียวกันมาตรการสังคม มาตรการด้านสาธารณสุขก็ต้องทำเช่นกัน ทั้งนี้ ตนเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการมีวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีวัคซีนมาเติมได้ทันกับเวลา

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3  ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลแวกเตอร์ทำงานได้ดีมาก และแม้แต่ชนิด mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา และมีแอสตร้าเซนเนก้า อยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นในกลุ่มนี้ สามารถใช้เป็นบูสเตอร์โดสได้ทั้งหมด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo