COVID-19

สรุปชัด ๆ เดินทางข้ามจังหวัดได้หรือไม่ ต้องเดินทางช่วงเคอร์ฟิวทำอย่างไร เช็คเลย!!

สรุปชัด ๆ เดินทางข้ามจังหวัดได้หรือไม่ ต้องเดินทางช่วงเคอร์ฟิวทำอย่างไร โหลดเอกสารรับรองสำหรับผู้มีความจำเป็นต้องออกนอกเคหสถานได้ที่ไหน เช็คเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกาหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดย ให้ประชาชนในพื้นที่เขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ห้ามออกจากเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้บังคับใช้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความชัดเจนข้อกำหนดที่ 27 เกี่ยวกับการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือไม่ถึงขั้นห้าม แต่การเดินทางเข้าหรือออกพื้นที่สีแดงเข้มต้องแสดงหลักฐานความจำเป็นและมีด่านตรวจ หากแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนสองเข็มก็จะช่วยได้เยอะ และในข้อกำหนดระบุไว้ว่า อาจทำให้การเดินทางจะไม่ได้รับความสะดวกเหมือนที่ผ่านมา เวลาเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม และการตั้งด่านจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะกลัวการอพยพ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้มยังเดินทางได้ปกติ

เดินทางข้ามจังหวัด

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติการโดยในการเดินทางข้ามเขต จาก 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากจำเป็นต้องเดินทาง อาทิ การเดินทางเพื่อรับวัคซีนยังจังหวัดอื่นนั้น ถือว่าเดินทางได้ โดยที่การเดินทางเพื่อรับวัคซีนเป็นการเดินทางตามวัตถุประสงค์ด้านการสาธารณสุข และได้แจ้งไว้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยแล้ว โดยเฉพาะกรณีเป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ อาจพิจารณาเดินทางในช่วงกลางวันเพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรการห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับการอนุญาต มีใบอนุญาตที่เป็นรายกรณี

เปิดเงื่อนไขประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ เดินทางข้ามจังหวัดได้ไหม

  • ให้ประชาชนหลีกเลี่ยง หรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
  • กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ
  • ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่น เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
  • ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ สำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ต้นทางจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล หรือพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อกำหนดนี้ โดยเพิ่มความเข้มงวดเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจคัดกรองการเดินทาง การจัดระบบและระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
  • การขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัด ให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

เดินทางข้ามจังหวัด

ศปม. ตั้งจุดตรวจ 147 จุด

ทั้งนี้ เพื่อบังคับใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน เริ่มวันนี้ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 21.00 – 04.00 น. ตรวจการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าออกจังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี)

  • กรุงเทพฯ 88 จุดตรวจ
  • จังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด 20 จุดตรวจ
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด 39 จุดตรวจ

เดินทางข้ามจังหวัด

เปิดตัวอย่างเอกสารรับรองผู้ต้องเดินทางช่วงเคอร์ฟิว 10 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ไฟล์เอกสารรับรองความจำเป็นสำหรับการออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. (ไฟล์นี้เป็นตัวอย่างสำหรับหน่วยงานไปประยุกต์ใช้) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา)

“สำหรับหน่วยงาน หรือบริษัท หรือสถานประกอบการต้นสังกัดออกให้บุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 ได้แก่ การสาธารณสุข การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์ หรือความสะดวกแก่ประชาชน และการประกอบอาชีพที่จำเป็น”

คลิกดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://bit.ly/3xyiaNY

นอกเหนือจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ให้ขอเอกสารรับรองความจำเป็นฯ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo