COVID-19

‘Home Isolation’ 7 เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย-วิธีปฏิบัติตัว

วิกฤติเตียงเต็ม ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องนำระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) มาใช้ ดูแลผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการ ภายใต้เงื่อนไข และข้อควรระวัง

ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้กับผู้ป่วย 2 กรณี คือ

1. ผู้ป่วยที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ ระหว่างรอแอดมิทในโรงพยาบาล แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านเพื่อรอเตียงได้ 2. ผู้ป่วยที่ Step Down หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันจนอาการดีขึ้น และจำหน่ายกลับบ้าน เพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านอย่างเคร่งครัดอีก 4 วัน

Home Isolation

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน จะมาจาก ผู้ป่วยโควิดรอเตียง ในระบบสายด่วน 1330 กว่า 2,500 ราย โดยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยที่ตกค้างรอหาเตียงอยู่ในระบบของ 1330 จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านทั้งหมด ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น ในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัย ตามมาตรฐานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

ปัจจุบัน สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่น ๆ ในพื้นที่ กทม. 204 แห่ง แต่ละแห่งมีศักยภาพ (capacity) ดูแลผู้ป่วยได้ 200 ราย รวมแล้วสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านได้ ประมาณ 40,000 ราย

นอกจากนี้ ยังมี 6 โรงพยาบาลในสังกัด สปสช.ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันทรวงอกแห่งชาติ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ และโรงพยาบาลสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

เปิด 7 เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย เข้าระบบ Home Isolation

  • ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • อายุไม่เกิน 60 ปี
  • อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ไม่มีภาวะอ้วน
  • ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น

กักตัว

เงื่อนไขสำคัญ ของผู้ป่วยโควิด

  • ต้องสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
  • สถานที่เหมาะสม บ้านต้องมีห้องนอนแยก
  • มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง
  • มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
  • ต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล
  • ผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่าย ๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล
  • มีระบบส่งต่อผู้ป่วย ในกรณีฉุกเฉิน

วิธีปฏิบัติตัว ของผู้ป่วยดูแลรักษาที่บ้าน

  • ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
  • ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอน ให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกัน ควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่น หรือหยิบจับของ ที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ต้องสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo