COVID-19

ข่าวดี! เพิ่มจุดตรวจโควิด กทม. วันละ 1-2 หมื่นราย เริ่ม 12 ก.ค.นี้ ที่ไหนบ้าง เช็คเลย!

เพิ่มจุดตรวจโควิด ในกทม. วันละ 1-2 หมื่นราย สปสช.จับมือ สปคม. มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทีมตรวจโควิด-19 เชิงรุก ใช้ชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ 30 นาทีรู้ผล ที่ไหนบ้าง เช็คได้เลยที่นี่

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้ สปสช. ประสานกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก โดยจะเพิ่ม จุดตรวจโควิด กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000-12,000 ราย เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการประมาณ 1-2 สัปดาห์

เพิ่มจุดตรวจโควิด

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดหนัก จนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งพบว่า มีประชาชนที่ต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมาก

ใช้ชุด Rapid Antigen Test ตรวจโดยบุคลากรการแพทย์

สำหรับการตรวจหาเชื้อดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา

เมื่อทราบผลว่าติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่การพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มการตรวจเชิงรุกคือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียว จะรายงานผลเข้าระบบฐานข้อมูลของ สปสช. และให้ผู้ติดเชื้อกลับไปกักตัวที่บ้านก่อน โดย สปสช. จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน เพื่อการดูแลให้ ซึ่งก็จะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อไปภายใน 48 ชั่วโมง

จากนั้น เมื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ก็จะส่งเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้น ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทำวิดีโอคอลล์ หรือ Telehealth ติดตามประเมินอาการวันละ 2 ครั้งทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ

ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยอาการแย่ลง หรือเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง และสีแดง คลินิกชุมชนอบอุ่น จะประสานกับโรงพยาบาลรับส่งต่อของตัวเอง ให้รับตัวผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาล และในกรณีที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ เตียงเต็ม จะประสานสายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เพื่อหาเตียงให้ ซึ่งระหว่างที่รอเตียง จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน เพื่อประคองอาการจนกว่าจะได้เตียงในโรงพยาบาล

จุดตรวจโควิด

ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรักษาที่บ้านได้ ขณะที่ สปสช. มีเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นในพื้นที่ กทม. 204 แห่ง แต่ละแห่งมีศักยภาพ (capacity) ดูแลผู้ป่วยได้ 200 ราย รวมแล้วสามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านได้ประมาณ 40,000 ราย

“เมื่อผู้ติดเชื้อสีเขียว เข้าสู่ระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน ก็จะทำให้มีพื้นที่เตียงว่างในโรงพยาบาล สำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการปานกลาง และอาการรุนแรงได้มากขึ้น”นพ.จเด็จกล่าว

จุดตรวจโควิด เช็คเลยที่ไหนบ้าง

ตั้งแต่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป ตรวจได้ที่

  • อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จำนวน 2,000 คนต่อวัน
  • สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ตรวจ 3,000 คนต่อวัน
  • สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) เขตบางกะปิ กทม. ตรวจ 3,000 คนต่อวัน
  • ลานจอดรถชั้น 5 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ วันละ 500 คน

ตั้งแต่วันพุธที่ 14 กรกฎาคม เพิ่มจุดตรวจ ที่ สนามฟุตบอลกองพล ปตอ. เกียกกาย เขตดุสิต กทม. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตรวจ 3,000 คนต่อวัน

ชุดตรวจโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo