COVID-19

ฟังทางนี้! ‘หมอโรคปอด’ บอกชัด ถัาสงสัย ‘เชื้อโควิดลงปอด’ แต่ไม่มีเตียงรักษา ต้องทำยังไง

แพทย์เชี่ยวชาญโรคปอด อัดคลิปลงยูทูบ แนะ 8 วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ต้องสงสัยว่า เชื้อโควิดลงปอด  แต่ยังไม่มีเตียงรักษา และต้องอยู่กับบ้าน 

นพ.​ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤติบำบัด และการปลูกถ่ายปอด ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ลงในยูทูบช่อง Doctor Tany  เล่าถึงข้อควรปฏิบัติ หากเชื้อโควิดลงปอด แต่ไม่มีเตียงรักษา โดยมีวิธีการดังนี้

  • ถ้ามีอาการ “เหนื่อย” ให้สงสัยว่า โควิดลงปอดไว้ก่อน

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจ ให้ลองเดินไปมา ลุกยืนจากท่านั่งสามครั้ง หรือกลั้นหายใจ 10-15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย หรือวัดออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94 % ลงไป ก็ถือว่าโควิดน่าจะลงปอด

โควิดลงปอด

  • นอนคว่ำ อย่าเดินไปมา

ถ้านอนคว่ำไม่ได้ให้นอนตะแคง สำหรับคนท้องให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง

  • พยายามขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
  • ทานอาหารให้พอ

ถ้าทานไม่ได้ให้ทานน้ำประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน ทานมากไปก็ไม่ดี ถ้าทานอาหารไม่ได้เลย ควรทานน้ำเกลือแร่ ถ้าไม่มีให้ผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำตาลลงในน้ำแล้วดื่ม

  • ทานยาประจำตัวสม่ำเสมอ อย่าขาด

กรณีที่เป็นเบาหวาน ควรตรวจน้ำตาลบ่อย ๆ ถ้าน้ำตาลต่ำ ควรงดอินซุลิน หรือยาทาน ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันบ่อย ๆ ถ้าต่ำ 90/60 ควรงดยา ถ้าทานยาขับปัสสาวะอยู่ และทานน้ำไม่ได้ ให้งดยาไปก่อน

โควิดลงปอด
นพ.​ธนีย์ ธนียวัน
  • เตรียมยาพาราเซตามอล ไทลินอล ไว้ทานเวลามีไข้

อย่าทานยากลุ่มอื่นโดยเฉพาะ NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (ponstan), diclofenac (voltaren) เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ถ้าแพ้ยาพาราให้เช็ดตัวเอา ถ้าจะทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ให้ทานตามกำหนดที่ข้างฉลาก อย่าทานเกินขนาด

ส่วนท่านที่มีโรคตับห้ามทาน เพราะอาจทำให้ตับวาย

  • ถ้าเหนื่อยมาก อย่าเข้าห้องน้ำ

เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หัวใจหยุดเต้นได้ ควรเข้าที่ข้างเตียงดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรือถ้าจะเข้าห้องน้ำ อย่าล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย เพราะมีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ จากนั้นเป็นลม หัวใจหยุดเต้น

ส่วนท่านที่ท้องผูก ให้ทานยาระบาย ทานน้ำมาก ๆ การเบ่งอุจจาระจะทำให้หน้ามืดได้ ในกรณีที่ออกซิเจนต่ำ

  • หมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo