COVID-19

‘แลมบ์ดา’ ยังไม่เข้าไทย กรมวิทย์ฯ ยืนยัน มีระบบเฝ้าระวังเข้ม ยังไม่น่ากังวล

“หมอศุภกิจ” ระบุ “สายพันธุ์แลมบ์ดา” ยังไม่เข้าไทย ยันมีระบบเฝ้าระวังโควิดได้มาตรฐานโลก ชี้ยังอยู่ในอเมริกาใต้ ไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล

วันนี้ (8 ก.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา (lambda) ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้ ว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดที่ได้มาตรฐานโลก ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวตรวจได้เกือบพันตัวอย่างต่อสัปดาห์ ถ้าแลมบ์ดาเข้ามาก็ตรวจเจอ แต่ตอนนี้ยังไม่มีในประเทศไทย

“สายพันธุ์นี้ ขณะนี้เกิดขึ้นในอเมริกาใต้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล แต่เนื่องจากมีการระบาดสายพันธุ์นี้ ในหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ จึงต้องเพ่งเล็งผู้เดินทางมาจากบริเวณดังกล่าว”

1680390253

“แต่เรามีการกักตัวผู้เดินทางต่างประเทศอย่างเข้มงวด ส่วนความรุนแรงของสายพันธุ์นี้ดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ ทำให้ป่วยตายมากขึ้นหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลมากพอ ต้องติดตามต่อไป ถ้ามาก็ดักเจอ”

ทั้งนี้ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา ตรวจพบครั้งแรกในประเทศเปรู ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก โดยรายงานขององค์การสุขภาพของภาคพื้นอเมริกา (PAHO) ระบุว่า เกือบ 82% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในเปรู ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา

ขณะที่ในชิลี พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดา 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่เก็บระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยบรรดานักวิจัยแสดงความกังวลว่าไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาอาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่า สายพันธุ์เดลตา

ความกังวลที่มีต่อไวรัสโควิด สายพันธุ์แลมบ์ดา ยังเกิดขึ้นหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วรัสโควิดสายพันธุ์นี้ เป็น สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (variant of interest)  จากการที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นในอเมริกาใต้ ซึ่ง WHO ระบุด้วยว่า สายพันธุ์แลมบ์ดามีความสามารถในการแพร่ติดต่อ และต่อต้านภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo