COVID-19

‘หมอศิริราช’ ตอบทุกข้อสงสัย เทียบประสิทธิภาพวัคซีน จากระดับแอนติบอดี

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน จากระดับแอนติบอดี ได้หรือไม่ หมออดุลย์ เคลียร์ชัด ไม่ควรใช้ข้อมูลของ คนละประเทศ คนละบริเวณมาเปรียบเทียบกัน เพราะความหนาแน่นของโรคต่างกัน

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” ถึงกรณี เปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีน โควิด-19 จากระดับภูมิต้านทาน หรือ antibody ว่า ไม่ควรใช้ข้อมูลของ คนละประเทศ คนละบริเวณมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากความชุกของแต่ละประเทศต่างกัน โดยระบุว่า

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน

“เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน โดยดูจากการศึกษาระดับ antibody ได้หรือไม่

ที่แชร์กันในโลกโซเชียลว่า วัคซีนตัวนั้นดีกว่าตัวนี้ โดยเอาผลการศึกษาระดับ antibody มาเทียบกันให้เห็นจะ ๆ เราเชื่อการเปรียบเทียบนั้นได้หรือไม่ ลองมาดูกันครับ

ระดับ antibody คือ การวัดปริมาณของกลุ่มโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะในการรู้จัก กับสิ่งแปลกปลอมเฉพาะอย่าง เช่น รู้จัก ไวรัสตับอักเสบ รู้จักโรคอีสุกอีใส รู้จักพิษสุนัขบ้า ฯลฯ ซึ่ง การมี antibody ต่อเชื้อ โควิด-19 ก็เป็นหนึ่งในโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้น

ระดับ antibody ที่เพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมนั้น เข้ามาในร่างกาย ระบบทหารตำรวจที่ป้องกันตัวเรา ในเซลล์เม็ดเลือดขาว พร้อมที่จะออกมาทำงาน และจู่โจมสิ่งแปลกปลอมได้อย่างรวดเร็วทันใจ

ถ้าจะเปรียบเทียบ antibody ก็คล้าย ๆ กับ สายสืบ ที่มีบัญชีดำของผู้ร้าย โควิด-19 ระดับ antibody สูงหรือต่ำ ก็เทียบได้กับว่ามี สายสืบ อยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีมาก เราก็เจอมันได้เร็ว จัดการมันได้เร็ว

antibody มีความจำเพาะมากพอควร แต่อาจจะมีการรู้จักข้ามกลุ่มได้ ดังนั้นใน โควิด-19 อัลฟา เบตา เดลตา ก็อาจจะมี antibody ข้ามกลุ่มได้ แต่ไม่ทั้งหมด คล้าย ๆ กับสายสืบรู้ว่า ผู้ร้ายเป็นกลุ่มคนผิวขาว หรือ กลุ่มอาหรับ ฯลฯ

การเพิ่มขึ้นของ antibody ภายหลังได้รับ วัคซีน หรือ ป่วยเป็นโรค จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หลังได้สัมผัสวัคซีน หรือ สัมผัสเชื้อโรค โดยจะขึ้นสูงในระดับที่พร้อมใช้งานประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จากนั้น จะค่อยๆ ลดลง

เหมือนสายสืบ ที่จะเข้มงวดมาก ในช่วงได้ข่าวผู้ร้ายใหม่ ๆ หลังจากนั้น เวลาเจอผู้ต้องสงสัย ก็ต้องใช้เวลาคิด หรือฟื้นความจำนานหน่อย เพราะไม่ได้เจอมาพักใหญ่

แต่ถ้าเจอกับ วัคซีน หรือ เชื้อโรคในรอบสอง การเพิ่มขึ้นของ antibody จะขึ้นเร็ว และ สูงกว่า ครั้งแรก (ดังรูป)

หมออดุลย์

เทียบประสิทธิภาพวัคซีน หลังฉีด 2 เข็ม 

นี่คือเหตุผลที่ แพทย์ให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ในเวลาที่คิดว่า ภูมิคุ้มกันเริ่มน้อยลง จะกระตุ้นให้ระบบของร่างกายตื่นตัว และ antibody เพิ่มสูงขึ้นครับ

ส่วนที่ว่า หลังฉีด 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว จะลดลงอีกหรือไม่ ต้องกระตุ้นอีกเป็นเข็มที่ 3 หรือไม่ ต้องรอผลการศึกษาครับ

ที่น่าสนใจคือ การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้มีระดับ antibody ที่สูงขึ้นนั้น เกิดได้จากทั้ง การฉีดวัคซีน หรือ การติดเชื้อตามธรรมชาติ แปลว่า ถ้าฉีดวัคซีน ไปแล้ว 1 หรือ 2 เข็ม และ ระหว่างนั้น เกิดโชคไม่ดีไปรับเชื้อ โควิด-19 เข้า ระดับ antibody จะถูกกระตุ้นให้สูงขึ้นอีกครั้ง คล้ายกับ การได้รับวัคซีนอีกหนึ่งเข็ม

การติดเชื้อนั้น ร่างกายอาจจะยังไม่แข็งแรงพอที่จะกำจัดโรค จึงป่วยติดเชื้อเป็นโรค แต่ถ้า ปริมาณเชื้อไม่มาก และ ร่างกายแข็งแรงพอ ก็ไม่เป็นโรค แต่ ได้รับการกระตุ้น antibody ให้สูงขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น คนบางคน จึงอาจจะวัดค่า antibody ได้สูงมาก ๆ ถ้าเจอเชื้อโรคหลายครั้ง

ตรงนี้ น่าสนใจมากครับ เพราะ การวัดระดับ antibody ของ วัคซีน แต่ละประเภท ไม่ควรใช้ข้อมูลของ คนละประเทศ หรือ คนละบริเวณมาเปรียบเทียบกัน

ทำไม หรือครับ

เพราะ หากวัคซีนนั้น ถูกฉีดในประเทศที่มีคนป่วยเป็นโรค หนาแน่น มากมาย เช่น อเมริกา ระดับ antibody ที่วัดได้ของคนที่ได้รับวัคซีน อาจจะไม่ได้เป็นผลของวัคซีนอย่างเดียว อาจจะเป็น ผลของวัคซีน + การกระตุ้นจากการรับเชื้อโรค ระดับ antibody จึงค่อนข้างสูง (อย่างเช่น Pfizer หรือ Modena)

EyesonSciCHINA SINOVAC VACCINE PRODUCTION PROCESS CN 16

แต่ถ้าเอาตัวเลขมาเทียบกับการวัดระดับ antibody ในประเทศที่เกิดการระบาดน้อยกว่าหลาย ๆ เท่า อย่างเช่น ประเทศไทย ผลของวัคซีน ที่วัดได้ ก็อาจจะเป็นผลของวัคซีนล้วน ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยการรับเชื้อโรค จากคนอื่นที่อยู่รอบข้าง อย่างในอเมริกา ค่าที่วัดได้จึงอาจจะดูต่ำกว่า ค่าที่วัดได้ ในอเมริกา

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผล คือ เวลา หลังฉีด เพราะ วัคซีน แต่ละชนิด มีอัตราการคงตัวของภูมิต้านทาน หรือ antibody ไม่เท่ากัน บางชนิด ลดลงเร็ว หลัง 3 เดือน บางชนิด อาจจะเร็วกว่านั้น เวลาที่วัดค่า antibody หากวัดที่เวลาเดียวกัน อาจจะใช้เทียบกันไม่ได้

แต่เชื่อได้ว่า วัคซีนทุกชนิด ถึงแม้ระดับภูมิจะลดลง แต่เมื่อได้รับเชื้อ ระดับ ภูมิคุ้มกัน หรือ ระดับ antibody จะเพิ่มขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วเหมือนกัน

นี่คือเหตุผล ที่คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ป่วยหนัก และ โอกาสเสียชีวิตน้อยลง

เชื่อว่า รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ บทความที่เราเห็น แชร์กันในโลกโซเชียล หลายท่านอาจจะไม่ได้ ตามไปศึกษาถึงต้นเรื่อง ว่า วัดค่าที่ประเทศไหน เวลาใด ขณะนั้น ความชุกของโรคในประเทศนั้น เวลานั้น มีมากเท่าไหร่

ดังนั้น การนำข้อมูลมาเทียบกัน จึงต้องระวัง

บางคน จั่วหัวเรื่องว่า head to head ที่จริง จะรายงานผล head to head ได้จริง ต้องเป็นการศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นรูปแบบที่เรียกว่า control trial ซึ่ง ผู้ถูกฉีดวัคซีน และ ผู้ฉีดวัคซีน ก็ไม่รู้ว่า ได้รับวัคซีนตัวไหน จึงจะเชื่อถือได้ว่า ตัวใดตัวหนึ่ง ดีกว่าอีกตัวหนึ่ง

รถ Ferrari ที่วิ่งเร็วมาก พอมาวิ่งในเมืองที่รถติด ก็วิ่งได้พอๆกับรถคันอื่น รถยนต์ hybrid ที่ว่าประหยัดน้ำมัน พอมาวิ่งในเมืองที่รถติด ก็ไม่ได้ประหยัดเหมือนที่โฆษณา

ที่สำคัญ คือ ในบางสถานการณ์ มีรถพาเราไปจุดหมาย ก็ดีที่สุดแล้วครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo