COVID-19

องค์กรชายแดนใต้ เปิด 10 แนวทาง ร่วมแก้โควิด-19 ก่อนสาธารณสุขล่มสลาย

องค์กรชายแดนใต้ แถลงการณ์เสนอ 10 แนวทาง แก้ปัญหาโควิด-19 จี้รัฐดูแล ดำเนินการเร่งด่วน จัดการปัญหาเฉียบขาด ก่อนระบบสาธารณสุขจะล่มสลาย

กลุ่มองค์กร สมาคม จังหวัดชายแดนใต้ เปิดแถลงการณ์ถึงรัฐบาล และพี่น้องประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันประเทศไทย ยื่น 10 แนวทาง ร่วมแก้ไขปัญหา ก่อนระบบสาธารณสุขไทยล่มสลาย โดยระบุว่า

องค์กรชายแดนใต้

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีผลทำให้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตจำนวนมาก สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข มูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพทั้งเชิงนโยบายด้านสุขภาพ และการบริการแก่ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อื่นของประเทศไทย

รวมทั้งมีการร่วมกับ องค์กรการแพทย์นานาชาติ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มาตลอด 20 ปี พร้อมกับ สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) สานักข่าวอามาน มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาดังนี้

1. ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตระหนักว่า “นี่คือโรคระบาดร้ายแรงของ มนุษยชาติในรอบ 100 ปี” วิกฤติการระบาดครั้งนี้ มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

“นี่คือ สงครามชีวภาพ ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น” เราจะชนะศึกใหญ่ครั้งนี้โดยเร็ววัน เป็นได้ยาก ดังนั้น ขอให้พี่น้องทุก ๆ คน ใช้ความอดทน ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ อย่าได้เป็นต้นเหตุของการระบาด ของโรค และงดเว้นสิ่งที่จะนาไปสู่การระบาดมากขึ้นที่ทำให้คนอื่นติดโควิด เจ็บป่วย และเสียชีวิตเพราะเรา อย่างเด็ดขาด

องค์กรชายแดนใต้

2. แนวทางที่จะชนะโรคร้าย ขึ้นอยู่กับความตระหนัก และการตื่นรู้ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ และเชื่อถือได้ การมีระเบียบวินัย และรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น ประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ ต้องมาร่วมมือและทำงานเป็นเครือข่าย

3. ประชาชน ต้องตระหนัก และรีบฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพราะอย่างน้อย เป็นเกราะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้เสื้อเกราะจะบาง ก็ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย อันตรายจากการฉีด น้อยกว่าอันตรายจากการติดเชื้อมาก ดังนั้น ประชาชนต้องเอาใจใส่ และติดตามบริการการฉีดวัคซีน ของหน่วยบริการใกล้บ้าน รีบไปฉีดวัคซีน ชนิดไหนก็ได้ให้ฉีดไปก่อน

องค์กรชายแดนใต้ แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

4. เนื่องจากอยู่ในภาวะวิกฤติ การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่มีการรวมกลุ่ม จำนวนเกิน 20 คน อาจจะเป็นสาเหตุทำเกิดการระบาดกลุ่มใหญ่ เป็นเหตุให้ประเทศปิดยาว เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ ดังนั้น ศาสนสถานใดที่เคยเปิด หรือปฏิบัติศาสนกิจ ต้องงดหรือเลื่อนออกไปตามที่รัฐประกาศ

5. มาตรการการเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย และการล้างมือบ่อย ๆ ยังถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการป้องกันการติดต่อของโรค การล็อกดาวน์แบบเต็มที่ ก็พิสูจน์แล้วว่า ได้ผลในหลายประเทศ แต่ก็สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อการยับยั้งการระบาดของโรคนี้

ทางรอดของเรา คือ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว และครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด ดังนั้น รัฐต้องบริหารจัดการวัคซีน ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีความพร้อม ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัคซีน ในระดับพื้นที่

ใต้1

6. สภาวะวิกฤตินี้ ยังมีบุคคล กลุ่มคน รวมทั้งสถานประกอบการ บาร์ เบียร์ บ่อน ฯลฯที่ ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนด แนวปฏิบัติของรัฐ หรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดการปัญหาอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

7. การแพร่ระบาดของโรคจากกลุ่มความดี เช่น กิจกรรมทางศาสนาของคนบางกลุ่ม ทำให้เป็นเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น ควรให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ เช่น กรมศาสนา และองค์กรสูงสุดของศาสนานั้น ๆ เข้ามาควบคุมดูแล และจัดระเบียบอย่างจริงจัง

8. เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเปราะบาง จากสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 17 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ได้ และมีหลายปัญหาที่ทับซ้อน ดังนั้นการใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุด เช่น การประกาศล็อกดาวน์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกรุงเทพ และปริมณฑลล่าสุด อาจหนุน เสริม ให้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น รัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างรีบด่วน โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน และโรงเรียนที่ถูกปิด เนื่องจากมีการระบาดของโควิด แรงงานไทยที่กลับจากมาเลเซีย แล้วไม่มีอาชีพที่มีจำนวนมาก ร้านอาหาร ร้านค้าและตลาดนัด ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องมาจากล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว

9. หลายปีที่ผ่านมา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราการฉีดวัคซีนในเด็ก ต่ำที่สุดของประเทศ อันเนื่องจากขาดข้อมูล ที่จะนำความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยความแตกต่างทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และปัญหาเศรษฐกิจ กอปรกับปัญหาความไม่สงบ ทำให้กระทบกับระบบบริหารสุขภาพ ส่งผลให้โรคบางโรคที่เคยหมดจากประเทศไทยแล้ว กลับมาระบาดซ้ำ

องค์กรชายแดนใต้

ดังนั้น รัฐต้องจัดหาวัคซีนเป็นกรณีพิเศษ ทั้งจำนวนและคุณภาพ โดยเน้นวัคซีนที่มีคุณภาพสูง เนื่องจาก 5 จังหวัด เป็นด่านหน้า มีแนวชายแดนที่ติดกับเพื่อนบ้าน อาจพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ที่วัคซีนธรรมดาไม่สามารถป้องกันได้ อีกทั้ง เป็นการแสดงความจริงใจ และความมุ่งมั่นว่า ต้องการดูแลประชาชนทุกคน อยากให้การบริหารจัดการ เข้าถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นต่าง ซึ่งไม่ไว้วางใจรัฐเป็นทุนเดิม จะได้มีโอกาสในการเข้าถึง วัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น

10. รัฐต้องตัดงบประมาณของประเทศที่ไม่จำเป็น ผันงบมาช่วยดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ที่ใกล้จะล่ม เนื่องจากการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม เปิดไม่ทันกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นมากในแต่ละวัน เตียงไอซียูเต็ม ผู้ป่วยโควิดไปเบียดเตียงของคนไข้โรคอื่น

ประชาชนต้องพึ่งตัวเอง ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข จนทำให้โรคกำเริบ และหลายรายต้องเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 ในครั้งนี้ ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความอ่อนแอของตนเอง การหันกลับเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงจัง จะเป็นวัคซีนทางใจ ที่จะช่วยปลดเปลื้องความตื่นตระหนก และความทุกข์ทรมาน จากการระบาดของโรคร้าย ในครั้งนี้

ขอพรต่อพระองค์ให้เรา ครอบครัว และประชาชนคนไทยทุก ๆ คน ได้มีพลังที่จะก้าวไปข้างหน้า ด้วยกัน เพื่อให้ผ่านพ้นจากการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ ของมนุษยชาติครั้งนี้ ด้วยเทอญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo