COVID-19

เปิดเบื้องลึกเบื้องหลัง ทำไม ‘ซิโนแวค’ กลายเป็น วัคซีนหลัก ของไทย

ทำไม “ซิโนแวค” กลายเป็น วัคซีนหลัก ของไทย ชมรมแพทย์ชนบท เปิดเบื้องหลัง ดีลซื้อซิโนแวคเร่งด่วน จี้รัฐ 7 มิถุนายน ทุกจังหวัด ต้องมีทั้งแอสตร้าฯ ซิโนแวค

เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ซีรีย์ “ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 5” กรณีวัคซีน ซิโนแวค กลายเป็น วัคซีนหลัก ของประเทศ เปิดเบื้องลึกเบื้องหลัง เมื่อนโนบายแทงม้าตัวเดียว เจรจาซื้อแอสตร้าเซนเนก้าไม่ทันการณ์ หลังสมุทรสาครระบาดหนัก ต้องใช้กำลังภายในสไตล์เอเชีย ดีลซื้อซิโนแวค จากจีนสำเร็จ โดยระบุว่า

ซิโนแวค วัคซีนหลัก

“เบื้องหลัง ทำไม ซิโนแวค ถึงกลายเป็นวัคซีนหลักของไทยไปได้

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก WHO ได้แถลงว่า “วัคซีนซิโนแวค ได้รับการรับรองจาก WHO สำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (emergency use) แล้ว” นับเป็นข่าวดีของหลายประเทศที่ฉีด ซิโนแวค เป็นวัคซีนหลัก รวมทั้งประเทศไทย

ทั้งนี้ ในรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า การอนุมัติของ WHO ได้ปูทางให้กับการใช้วัคซีนซิโนแวค ในประเทศยากจนทั่วโลก ทั้งในลาตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย และทำให้ซิโนแวค เข้าไปเป็นหนึ่งในวัคซีนของโปรแกรม COVAX เพื่อประเทศยากจนได้ เพราะการประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนที่ผลิตจากอินเดีย ที่จะเข้าสนับสนุน COVAX

เบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจคือ ทำไมไทยจึงใช้ ซิโนแวค จนกลายเป็นวัคซีนหลัก นำหน้าแอสตร้าเซนเนก้าไปหลายขุมแล้ว

จากการระบาดต่ำมากของประเทศไทย ในการระบาดระลอกแรก ทำให้เกิดการชะล่าใจ ในการจัดหาวัคซีน นำสู่นโยบายการแทงม้าตัวเดียว ของรัฐบาลประยุทธ์ พึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ยิ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีการสร้างโรงงานผลิตในไทยด้วย ก็เลยจบสนิทลงที่แอสตร้าฯ แม้แต่โปรแกรม COVAX ที่นานาประเทศเข้าร่วม ไทยเราก็ตกขบวน

และแล้ว 17 ธันวาคม 2563 เริ่มพบผู้ป่วยรายแรก จากตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร จนเมื่อระบาดไปทั่วประเทศ ความตระหนักว่า ประเทศไทยพลาดแล้ว ที่ไม่มีวัคซีนในมือเลย ก็เริ่มดังขึ้น และดังมาก จนเริ่มสั่นคลอนรัฐบาล

ซิโนแวค

ในขณะนั้น วัคซีนเริ่มหายากแล้ว หากไม่จองไว้ก่อน สั่งซื้อด่วนก็ไม่มีของจะส่งให้ ครั้นจะรอแอสตร้าฯ สยามไบโอไซแอนก็ต้องรออีกครึ่งปี

เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับ รมต.อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งมีความสนิทสนมกับท่านเอกอัครราชทูตจีนเป็นการส่วนตัว จึงได้เข้าพบ และขอความช่วยเหลือ ประกอบกับ บริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ถือหุ้น 15.03% ของซิโนแวค ตั้งแต่ธันวาคม 2563 จึงเป็นการใช้กำลังภายในแบบวิถีเอเชีย จนดีลซิโนแวคได้สำเร็จ

5 มกราคม 2564 ครม.จึงรีบอนุมัติงบ 1,228 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส รอจน 24 กุมภาพันธ์ วัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดสมาถึงไทย รมต.อนุทิน ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก และนี่เป็นวัคซีนเดียวที่ไทยมี

ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยสั่งซื้อซิโนแวคไปแล้ว 6 ล้านโดส และจะนำเข้าต่อเนื่องอีกทุกเดือน ๆ ละ 3 ล้านโดส จนถึงสิ้นปี 2564

สำหรับวัน kick off 7 มิถุนายน 2564 ทาง ศบค.ต้องทำให้ทุกจังหวัด มีวัคซีน ทั้งแอสตร้าฯ และซิโนแวคให้ได้ กรมควบคุมโรค เพิ่งแจ้งยอดการส่งวัคซีนแอสตร้าฯ มาแล้ว รอบแรก ประเดิมที่ 2.4 แสนโดส โดยวันนี้จะเริ่มส่งไปยัง 58 จังหวัด ๆ ละ 3ุ60 ขวด สำหรับ 3,600 โดส

ยกเว้น 19 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ไปกับล็อตหลังภายในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ คือ 1 วันก่อนวัน kick off แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกโรงพยาบาลก็มี ซิโนแวค ไปร่วมขัดดาทัพก่อนเป็นอย่างน้อย

ประเทศไทยจึงมีซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยไปโดยปริยาย

ปล. ขอบคุณภาพและข่าวจาก Reuters”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo