COVID-19

ฉีดวัคซีนคนตาบอด กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง นำร่อง กทม. ปริมณฑล

ฉีดวัคซีนคนตาบอด สธ. นำร่องในกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง รวมถึงครอบครัว และผู้ดูแลกว่า 500 คน ในเขตกทม.และปริมณฑล โดยสถาบันสิรินธรฯ

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมการ ฉีดวัคซีนคนตาบอด ป้องกันโรคโควิด-19 ที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โดยเป็นการฉีดวัคซีนให้แก่ คนพิการทางการเห็น ครอบครัว และผู้ดูแล

ฉีดวัคซีนคนตาบอด

ดร.สาธิตกล่าวว่า สถานการณ์การระบาด ของโควิด-19 ในกทม. และปริมณฑล ยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อภายในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด กลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ กลุ่มคนพิการที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแล มีโอกาสสัมผัส และติดเชื้อได้ง่าย

กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้พิการ ครอบครัว และผู้ดูแล โดยมอบหมายให้ กรมการแพทย์ โดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เปิดบริการฉีดวัคซีนสำหรับคนพิการ นำร่องในคนพิการทางการเห็น ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง สมาชิกครอบครัว และผู้ดูแล ในเขตกทม. และปริมณฑล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 กว่าคน

ทั้งนี้ จะเป็นการนัดหมายให้มารับการฉีดวัคซีนวันละ 60 คน จัดระบบบริการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน 8 ขั้นตอนของกรมควบคุมโรค ซึ่งเริ่มให้บริการเป็นวันแรก เมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม 2564) ขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 100 คน

คาตาบอด

สำหรับกลุ่มออทิสติก บกพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ ดาวน์ซินโดรม สมาธิสั้น และผู้ป่วยจิตเวช ที่อาศัยในพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันราชานุกูล รับผิดชอบจัดฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยในรอบแรก กำหนดสำหรับกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงบุคคลในครอบครัว ที่อาศัยบ้านเดียวกัน เปิดให้บริการการฉีดวัคซีนวันนี้ เป็นวันแรก

ส่วนคนพิการประเภทอื่น ๆ กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการให้เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วต่อไป ขณะนี้ได้ประสานข้อมูลกับ สมาคมคนพิการและเครือข่าย เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คนพิการทั่วประเทศ ได้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างครอบคลุม เกิดภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ ลดป่วย ลดรุนแรง และลดเสียชีวิตจากโรคโควิด 19

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการ ในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า คนพิการได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,092,595 คน หรือคิดเป็น 3.21% ของประชากรทั้งประเทศ

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย มากที่สุด 49.85% รองลงมาเป็น คนพิการทางการได้ยิน หรือสื่อความหมาย และคนพิการทางการเห็น 18.84% และ 9.12% ตามลำดับ

หากแบ่งตามภูมิภาค จะเป็นคนพิการใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 832,609 คน คิดเป็น 39.70% ภาคเหนือ 460,820 คน คิดเป็น 22.02% ภาคกลาง 436,4 91 คน คิดเป็น 20.86% ภาคใต้ 259,629 คน คิดเป็น 12.41% กรุงเทพมหานคร 97,554 คน คิดเป็น 4.66% และข้อมูลรอยืนยัน 5,502 คน คิดเป็น 0.26%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo