COVID-19

พุ่งเกินพันแล้ว! คลองเตย ตรวจเชิงรุก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรวม 1,146 ราย

คลองเตย ตรวจเชิงรุก อัพเดทล่าสุด ผู้ติดเชื้อแล้วรวม 1,146 ราย จากยอดตรวจ 26,799 ราย เร่งฉีดวัคซีนด่วน คลัสเตอร์ระบาดรุนแรงอีกหลายชุมชน

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang” สรุปผล คลองเตย ตรวจเชิงรุก หาเชื้อ โควิด-19 เชิงรุกในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2564 รวมตรวจคัดกรองแล้วทั้งสิ้น 26,799 ราย พบผู้ติดเชื้อโควิดรวม 1,146 ราย โดยระบุว่า

คลองเตย ตรวจเชิงรุก

“สรุปการตรวจหาเชื้อ Covid-19 เชิงรุก ในชุมชนคลองเตย

จากที่ได้เร่งตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่ม รวมการตรวจเชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน จนถึง 12 พฤษภาคม 2564 ทั้งสิ้น 26,799 ราย ตรวจเพิ่ม 1,707 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 292 ราย

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทราบผล 21,450 ราย พบผู้ติดเชื้อ (+) 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.34 กทม. จะตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้ได้มากที่สุดและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชุมให้เร็วที่สุดครับ”

นอกจากนี้ ร.ต.อ.พงศกร ยังได้แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ในกทม.มีหลายกลุ่มก้อน (cluster) ที่สำคัญ อาทิ ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง เขตดินแดง ปากคลองตลาด เขตพระนคร สี่แยกมหานาค เขตดุสิต สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค เป็นต้น

ทั้งนี้ มีหลายคลัสเตอร์ ที่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค

คลองเตย1 1

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดใน คลัสเตอร์ ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนแออัดคลองเตย ปัจจุบันได้เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล

สำหรับแนวทางการให้วัคซีน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากวัคซีนที่ กทม. ได้รับจัดสรรในช่วงนี้ มีปริมาณจำกัด จึงมีการจัดลำดับในการวัคซีนแก่ผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรด่านหน้า ที่มีหน้าที่ในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และกลุ่มอาชีพเสี่ยงก่อน

จากนั้นจะเป็นการให้วัคซีนในระยะต่อไป สำหรับกลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุ ที่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทางต่า งๆ อาทิ หมอพร้อม หรือลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาล แล้วจึงจะให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังได้พิจารณาให้วัคซีนเร่งด่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ ที่พบคลัสเตอร์การระบาดหลายชุมชน อาทิ ชุมชนคลองเตยและบ่อนไก่ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุก ตามแผนที่กรุงเทพมหานคร แจ้งกับกระทรวงสาธารณสุขไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากได้รับการการจัดสรรวัคซีน จากกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม กรุงเทพมหานคร จะเร่งฉีดให้แก่ประชาชน ในกลุ่มที่มีความต้องการต่อไป

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง

 

ในส่วนของการฉีดวัคซีนนอก รพ.ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะทดลองระบบที่ กทม. ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กทม. มีรายชื่อแล้ว ตามที่ได้รับจากองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกค้างบางส่วน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้า พนักงานเก็บขนขยะ และประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง

ในเบื้องต้น จะเน้นไปที่ บุคคลที่ต้องทำงานบริการประชาชน และมีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์ รวมถึงคนขับเรือโดยสาร ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำหรับศักยภาพการรองรับผู้ป่วยในขณะนี้ กรุงเทพมหานคร ยังเดินหน้าบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ในการควบคุมโรค และยังคงมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น เพื่อเร่งคลี่คลายปัญหา โดยสถานการณ์การรองรับผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเป็นไปด้วยดี

ในส่วนของ ผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ได้ขยายขีดความสามารถโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งขณะนี้ สำนักการแพทย์ ได้รับเต้นท์ความดันลบมาเพิ่มเติม จึงสามารถรับผู้ป่วยสีแดงได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยจะปรับแผนเป็นระยะ เพื่อรองรับสถานการณ์ในขณะนี้

ในส่วนของประชาชนประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ประสงค์รับบริการวัคซีน ตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ให้ลงทะเบียนผ่าน Line OA “หมอพร้อม” หากไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์ BFC ณ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสำนักการแพทย์ 1646

185277455 3477325189033744 4815395327161231616 n

ในด้านการควบคุมโรค สำนักอนามัย ได้เร่งการควบคุมโรคให้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ ควบคุมการระบาดในแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ภายใน 28 วัน ซึ่งการควบคุมที่ดีคือ การตรวจเชิงรุก ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด และการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว จึงจะทำให้เกิดการควบคุมโรคที่ดี มีประสิทธิภาพ

สำหรับการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า มีหลายคลัสเตอร์ที่อยู่ในชุมชน และชุมชนบางแห่งสามารถบริหารจัดการดูแลกันเองได้เป็นอย่างดี อาทิ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน เขตคลองเตย ที่ได้แยกประชาชนที่ติดเชื้อออกจากครอบครัว มาดูแลพักคอย ก่อนนำส่งสถานพยาบาล อันเป็นการลดการแพร่ระบาดให้แก่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบ Community Isolation ซึ่งชุมชนอื่นสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo