COVID-19

แข่งกับเวลา! สธ. เตรียมปลดล็อก ‘จองฉีดวัคซีนโควิด’ ได้ทุกกลุ่ม เริ่มต้นเดือนหน้า

สธ. เตรียมปลดล็อก “จองฉีดวัคซีนโควิด” ได้ทุกกลุ่ม เริ่มต้นเดือน มิ.ย. จัดล็อตใหญ่ 1 ล้านโดสให้กรุงเทพฯ ก่อน แก้ระบาดหนัก 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพิจารณาปลดล็อกให้ประชาชนทั่วไป สามารถลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด – 19 ได้ หลังจากไทยรับมอบวัคซีนล็อตใหญ่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564

สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) มีมติจะปูพรมฉีดวัคซีนโควิด – 19 ทั่วประเทศให้รวดเร็วมากขึ้น ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาด้วย

จองฉีดวัคซีนโควิด

โดยในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 จะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาไทยอีก 16 ล้านโดส และได้การจัดสรรวัคซีนล็อตพิเศษจำนวน 1 ล้านโดสให้พื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2564 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก จึงเป็นเร่งฉีดให้เร็วกว่าพื้นที่อื่น

นอกจากนี้ จะมีการปรับแผนฉีด วัคซีนโควิด – 19 ให้คล่องตัวมากที่สุด และให้โรงพยาบาลจัดแผนการฉีดในสถานที่ของเอกชน หากมีปัญหาจากการฉีดวัคซีนจะต้องนำตัวผู้ป่วยไปรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด

สำหรับแผนการฉีดจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งได้เปิดให้ จองฉีดวัคซีนโควิด ก่อนเป็นกลุ่มแรก ผ่านระบบหมอพร้อม

2.การฉีดแบบกลุ่มทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การฉีดให้กับกลุ่มคนในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ตำรวจ คนขับแท็กซี่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยง

โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้วางแผนรูปแบบในการฉีด หากจะให้มีการฉีดในสถานที่เอกชน ก็ต้องพิจาณาว่า อยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือไม่ หรือต้องมีการจัดเตรียมรถพยาบาลจากจุดที่ฉีดไปยังโรงพยาบาลไม่เกิน 15 นาที เพื่อความปลอดภัยของคนที่ฉีดวัคซีน

3.กลุ่มที่ต้องการวอล์คอิน ซึ่งให้กรมควบคุมโรคไปพิจารณาแนวทางรองรับ แต่จะให้ความสำคัญรองลงมาจากการลงทะเบียน และกลุ่มที่จะวอล์คอินต้องยอมรับเงื่อนไขที่อาจไม่สะดวกนัก เช่น ในแต่ละที่อาจมีการจำกัดปริมาณการฉีดในแต่ละวัน และหากจะวอล์คอินอาจจะไม่ได้ฉีดในวันนั้นทันที เพราะเกินโควตาการฉีดในวันนั้น ๆ

วัคซีน 1

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวานนี้ว่า ได้มีมติปรับรูปแบบการจัดหาและฉีด วัคซีนโควิด – 19 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการจัดหาวัคซีนโควิด19 ให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน

โดยหนึ่งในข้อสรุปสำคัญคือ ปรับแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ให้มีการปูพรมเข็มแรกกับประชาชนมากที่สุด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสความรุนแรง และเสียชีวิต ด้วยการให้ประชาชนวอล์คอินฉีดวัคซีนโควิดได้

สำหรับการจัดหาวัคซีน จะจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มเติมจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 โดยเร่งทำงานเชิงรุก ในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้เร็ว และมากรายที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับวัคซีน และให้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์ หากมีการทดลองวิจัยแล้ว

ขณะที่แนวทางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ที่จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนั้น จะมี 3 รูปแบบ คือ

  • รูปแบบการนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะจัดให้
  • นัดเป็นกลุ่มก้อน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือองค์กรภาครัฐและเอกชน
  • การปูพรมเรื่องของวอล์คอิน ซึ่งรายละเอียดได้มอบหมายให้ กรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะให้ทางพื้นที่ หรือแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้ดำเนินการ

shutterstock 1940836792 e1620385749758

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคเงิน และทรัพย์สิน ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาการผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมศูนย์วัคซีนต่าง ๆ คำถามแรกคือ รับนัดก่อนหรือใครมาก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทุกรูปแบบ จึงได้ย้ำกับทุกท่านว่า โอเค แต่ขอให้พิจารณาวอล์คอินและต้องจัด วัคซีนโควิด – 19 ให้เพียงพอและอำนวยการความสะดวกให้มากที่สุด พื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มได้เลย

แต่สิ่งที่สำคัญคือ การวอล์คอินอาจไม่ได้ทุกคน หากบางศูนย์มีคนมารับบริการมาก แต่ก็พยายามทำให้เกิดความสะดวกสบายมากที่สุด โดยเป็นนโยบายที่ให้ดำเนินการทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละจังหวัด  ว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะการบริหารภายใต้ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 (ศบค.) จะมีการจัดลำดับขั้นตอนการบริหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่หลักในการจัดหาวัคซีน เพื่อให้แต่ละพื้นที่ ไปบริหารจัดการกัน ในแต่ละพื้นที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo