COVID-19

เปิดแผน ‘คลองเตยโมเดล’ ทางออกกู้วิกฤติโควิด ในมุมมอง แพทย์นักมานุษยวิทยา

แพทย์นักมานุษยวิทยา ชง คลองเตยโมเดล 4 ข้อ ขีดวงการแพร่ระบาดในชุมชน ด้วยมาตรการ จำกัดการเคลื่อนที่ในระดับชุมชน

นพ.วิฬุรห์​ ลิ้มสวาท​ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Wirun Limsawart” นำเสนอ ทางออกโควิดคลองเตย ด้วย คลองเตยโมเดล 4 เรื่องต้องเร่งทำ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย ดังนี้

คลองเตย1

“วันนี้ได้เดินเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรก ภารกิจคือ ไปร่วมประชุม เพื่อวางแผนการสกัดการระบาดของโควิด-19 ที่คลองเตย โจทย์ยากที่ทำให้ได้มีโอกาสใช้วิชามานุษยวิทยาการแพทย์ ที่ไปร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่

จากสถานการณ์ในขณะนี้ ที่มีการระบาดรุนแรง ในบางชุมชนย่อย ของชุมชนคลองเตย ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งจัดการเพื่อ “จำกัดวง” ของการระบาด ไม่ให้ลามไปทั่วทั้ง 43 ชุมชนที่มีประชากรรวมมากกว่าแสนคน

แต่… ชุมชนแออัดเป็นพื้นที่ที่การ “ล็อกดาวน์” ทำไม่ได้และไม่ควรทำ เพราะคนจะหนีออก การระบาด จะกระจายไปทั่วอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ร่วมกันกำหนดเป็นแนวทางดำเนินการ อาจเรียกได้ว่า มาตรการ “การจำกัดการเคลื่อนที่ในระดับชุมชน” (Community Quarantine)

1. ให้ชุมชนควบคุมกำกับกันเอง ตามวิถีของแต่ละชุมชน ให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง “กักตัว” อยู่กับบ้าน และใช้กฎหมายกำกับอีกชั้น ถ้าไม่ยอมร่วมมือ

2. เร่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม และตรวจซ้ำเป็นระยะ ๆ หากพบติดเชื้อ ก็ส่งออกจากชุมชน เพื่อรับการรักษา

3. จัดระบบสนับสนุนอาหาร

4. ให้เงินชดเชยการขาดรายได้ และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เพื่อให้เขาไม่ต้องออกไปทำงาน

นพ.วิฬุรห์​ ลิ้มสวาท​
นพ.วิฬุรห์​ ลิ้มสวาท​

ข้อ 1 และ 3 เครือข่ายในชุมชนพยายามทำกันอยู่แล้ว ส่วนข้อ 2 ฝ่ายสาธารณสุขก็เข้าไปเสริม

ข้อ 4 เป็นตัวตัดสินความสำเร็จ เพราะคนที่นี่จำนวนมากทำงานรายวัน เขากลัวครอบครัวอดตาย มากกว่ากลัวโควิด

แต่คุยวันนี้ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เป็นโจทย์ที่ยังต้องคิดต้องประสานเพื่อหาทางออกต่อไป”

สำหรับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนคลองเตยนั้น ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ได้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มเสี่ยงในชุมชนคลองเตย โดยในช่วง 3 วัน ที่ผ่านมา (4-6 พฤษภาคม) ฉีดแล้วทั้งสิ้น 3,694 คน

ในส่วนของวันที่ 6 พฤษภาคม การฉีดวัคซีนบริเวณโลตัส สาขาพระราม 4 ทั้งหมดยังรอผลอยู่ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนบริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย แจกบัตรคิว 913 คน ได้รับ 892 คน ไม่ได้รับ/ไม่เข้าเกณฑ์ 21 คน

คลองเคย

ทั้งนี้ กทม. ยังคงบริการฉีดต่อเนื่องประมาณวันละ 2,500-3,000 คน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจำนวน 50,000 คน (คิดเป็นร้อยละ70 ของจำนวนคนในชุมชนทั้งหมด) รวมทั้งวางเป้าหมายเร่งค้นหา ผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในพื้นที่ให้ได้วันละ 1,000 คน โดยดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม นี้

นอกจากนี้ สำนักงานเขตคลองเตย ร่วมกับ สปคม. ให้บริการ SAWB ตรวจหาเชื้อ 3 จุด เมื่อวานนี้ (6 พฤษภาคม) ได้แก่

1. จุดวัดสะพาน จำนวน 1,124 ราย

2. จุดโรงเรียนชุมชนพัฒนา จำนวน 994 ราย

3. จุดตลาดคลองเตย จำนวน 769 ราย รวมทั้งสิ้น 2,887 ราย

ขณะที่ในวันนี้ (7 พฤษภาคม) สำนักงานเขตคลองเตย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก (Swab) บริเวณวัดสะพาน และบริเวณโรงเรียชุมชนพัฒนา และให้บริการฉีดวัคซีน บริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย และโลตัสพระราม 4

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo