COVID-19

‘หมอยง’ เปิดเหตุผล ไม่ควรเทียบ ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ไทยต้องการทุกตัวที่นำเข้าได้

หมอยง เปิดเหตุผล ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะสถานที่ เวลาในการศึกษาต่างกัน ขณะที่ไทยต้องการทุกตัว ที่นำเข้าได้ ใช้ได้เร็ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ หมอยง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan กรณีที่มีการเปรียบเทียบ ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ว่าไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีปัจจัยประกอบอีกมาก รวมทั้งเป็นการศึกษาต่างสถานที่ และเวลา อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ต้องการวัคซีนทุกตัว ที่สามารถนำเข้ามาใช้ได้เร็วที่สุด โดยระบุว่า

หมอยง

“โควิด 19 วัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน

ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลอง หรือ ศึกษาพร้อมกัน ในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น

1. ความชุกของโรค ในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูง ตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัคซีน Pfizer ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพ มีอุบัติการณ์ของโรคในประชากร ต่ำกว่า วัคซีน Johnson and Johnson ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในอเมริกา จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ Pfizer จึง มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนจอห์นสัน เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้น ในช่วงการศึกษา

2. ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า การศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีน Sinovac ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษา ในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกี ได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่า การศึกษาในบราซิล มาก

3. การนับความรุนแรงของโรค ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง วัคซีนของจีน Sinovac ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพ นับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก เข้าไปด้วย หรือ ระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO grade 2 คือติดเชื้อมีอาการ แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (no need medical attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเป็นความรุนแรงระดับ WHO grade 3 คือป่วย เป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพบแพทย์ (need medical attention)

วัคซีน05 scaled e1620220647923

ถ้ายิ่งนับความรุนแรงที่น้อยมาก ๆ จะมี ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ต่ำ และถ้านับความรุนแรงตั้งแต่เกรด 4 คือ ป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาล ประสิทธิภาพจะยิ่งสูงมาก และถ้ายิ่งความรุนแรงที่สูงไปอีก ถึงเกรด 7 Grade 7 คือเสียชีวิต ประสิทธิภาพจะใกล้ 100% ของ วัคซีนเกือบทุกชนิด

4. สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ Pfizer และ Moderna ทำก่อน Johnson การทำทีหลัง จะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์ หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดี และไม่ทราบประสิทธิภาพ ต่อไวรัสที่กลายพันธุ์

วัคซีนของจอห์นสันเห็นได้ชัดเจน การกลายพันธุ์ของไวรัส มีส่วนที่ทำให้ ตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ลดลง การทำการศึกษาคนละเวลา จึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกัน เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในการหลบหลีกประสิทธิภาพของ วัคซีน อยู่แล้ว

วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุด และศึกษาในสายพันธุ์อินเดีย ก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใด้ ข้อมูลล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่า วัคซีน Pfizer และมีประสิทธิภาพลดลง ประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดีย ก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน pfizer มาแล้ว 2 เข็ม ก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ดังนั้นในทางปฏิบัติ ในการดูวัคซีน เราจะต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด เราจึงไม่อยากเห็นการใช้ตัวเลขที่ทำการศึกษาต่างระยะเวลากัน ต่างสถานที่กัน มาเปรียบเทียบกัน ว่าวัคซีนใครดีกว่าใคร

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการวัดระดับภูมิต้านทาน วัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่นทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยเราต้องการวัคซีนทุกตัว ที่สามารถจะนำเข้ามาได้ และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด

#หมอยง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo