COVID-19

‘หมอเบิร์ท’ ชี้แจงพบ ‘โควิดสายพันธุ์บราซิล’ ระบุ ‘มีนาคม’ คนไทยการ์ดตกสุด

“หมอเบิร์ท” ชี้แจงกรณีพบ โควิดสายพันธุ์บราซิล ยันไม่หลุดออกมาในชุมชน  พบ “เดือนมีนาคม” คนไทยการ์ดตกสุด ๆ ระบุ 6 ชุมชนแออัดปทุมวัน เจอติดเชื้อ 162 ราย

วันนี้ (5 พ.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ รายงานพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ซึ่งเก็บข้อมูลโดย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563-30 เมษายน 2564 พบว่า มีช่วงหนึ่งที่การ์ดของคนไทยตกลง โดยช่วงที่ดิ่งสุด ๆ คือ เดือนมีนาคม 2564

shutterstock 1662701254

ระหว่างวันที่ 16-31 มีนาคม 2564 กราฟแสดงพฤติกรรมป้องกันตนเองในทุกเรื่องสูงขึ้น โดยตอนนี้ มีการใส่หน้ากากอนามัย 93.3% ล้างมือ 82.3% ตามด้วยการรับประทานอาหาร โดยใช้ช้อนกลางส่วนตัว การเว้นระยะห่าง ทุกพฤติกรรมคะแนนดีขึ้นใกล้ 100% ขอให้รักษามาตรการเหล่านี้ ช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันได้

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลแล้ว แบ่งเป็น 5 ฝ่าย ทำงานร่วมกัน คือ

  1. ฝ่ายอำนวยการ
  2. ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก
  3. ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง
  4. ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่
  5. ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน

มีผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตใน กทม. เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ในระดับเขต ทำงานร่วมกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่งแต่งตั้ง แต่มีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น เขตปทุมวัน คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวม 30,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,586 ราย คิดเป็น 3.97%

หากคิดเฉพาะชุมชนของ แขวงลุมพินี และแขวงปทุมวัน พื้นที่ 5.66 ตารางกิโลเมตร มีชุมชมแออัด 6 แห่ง และ 1 เคหะ พบผู้ติดเชื้อรวม 162 ราย ได้รับการดูแลเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม ตามอาการ 100% และอีก 304 คนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ดำเนินการกักตัว

“ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นใน 50 เขต เมื่อคัดกรองเชิงรุก และพบผู้ติดเชื้อ ศูนย์เอราวัณ และศูนย์การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ จะรับผิดชอบเข้าไปคัดแยกกลุ่มอาการ และจัดการนำผู้ป่วย เข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม และจัดการรถนำส่งผู้ป่วยสู่สถานพยาบาลที่เหมาะสม ส่วนสัมผัสเสี่ยงสูง มีภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม เข้าไปช่วยเหลือจัดตั้งการดูแล จัดสถานที่พักคอย จัดในพื้นที่โรงเรียนและพยายามให้กลุ่มนี้แยกไปอยู่จนพ้น 14 วัน”

shutterstock 1675282954

พญ.อภิสมัย บอกด้วยว่า วันนี้ กทม.จะลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงุรกเพิ่มเติม ในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เคหะบ่อนไก่ และวันที่ 5-10 พฤษภาคม 2564 ยังลงพื้นที่ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 2,000 คนต่อวัน และตรวจในสถานประกอบการอีก 1,000 รายต่อวัน โดยรวมตรวจวันละ 3,000 ราย และดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนคู่ขนานไปด้วย ซึ่ง กทม. 50 เขต มีประชากรอย่างน้อย 7 ล้านราย การระดมฉีดทั่ว 50 เขต การฉีดคือประมาณ 60,000 รายต่อวันเป็นอย่างน้อย จะมีการคุยกันการบริการจัดการต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, นพ.อุดม คชินทร, นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และคณบดีต่าง ๆ เข้ามาช่วยกัน เพื่อให้สถานการณ์ใน กทม.และปริมณฑล ลดอย่างเร็ววัน

เมื่อถามถึงกรณีการพบ โควิด สายพันธุ์บราซิล ในไทย พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตอนนี้การมีบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทย ได้รับการจัดสรรให้อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ การจัดการจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ทางกระทรวงสาธารณสุข ยังเพิ่มมาตรการตรวจสายพันธุ์ เพื่อดูว่า นอกจากสายพันธุ์อังกฤษ แล้วมีสายพันธุ์อื่นหรือไม่ เริ่มมีการรายงานพบในสถานกักกัน แต่ไม่มีในส่วนของชุมชน ซึ่งอยู่ในสถานกักกัน ที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo