COVID-19

‘ไทย’ ร่วง 4 อันดับ รับมือโควิดโลก ‘ดัชนีบลูมเบิร์ก’

“ไทย” ร่วง 4 อันดับ ดัชนีรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ประจำเดือนเมษายน ของบลูมเบิร์ก ขณะสิงคโปร์ แซงหน้านิวซีแลนด์ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 ของโลก 

บลูมเบิร์ก เปิดเผย “The Covid Resilience Ranking” การจัดอันดับ 53 ประเทศ หรือดินแดน ที่มีการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุด ประจำเดือนเมษายน โดยที่ ประเทศไทยได้ 66.7 คะแนน ร่วงลงมา 4 อันดับ จากลำดับที่ 9 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ลำดับ 13 ในการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้  

shutterstock 1928567363

ในการจัดอันดับ ที่รวบรวมข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมานั้น บลูมเบิร์ก ระบุว่า ในช่วง 1 เดือน ไทยมีอัตราการติดเชื้อต่อประชากร 100,000 คน อยู่ที่ 35 ราย และมีอัตราการเสียชีวิต ที่ 0.2% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในช่วงเวลา 1 เดือน คิดเป็นยอดรวมการเสียชีวิต 2 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยมีอัตราการตรวจหาเชื้อเป็นบวก ที่ 0.7% และมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรทั้งประเทศที่ 0.8%

นอกจากไทย แล้ว ประเทศที่มีอันดับร่วงลงมาอย่างมาก รวมถึง จีน ที่ร่วงลงมา 5 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 12 จากเดิมที่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของดัชนี และ ตุรกี ที่ร่วงลงไปถึง 19 อันดับ หลุดจากการอยู่ใน 20 อันดับแรกของดัชนี หลังจากที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต จากการติดเชื้อ พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จนทำให้ต้องประกาศล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ของประเทศ

ส่วน บังกลาเทศ และ ฟิลิปปินส์ ร่วงลงมา 13 และ 10 อันดับ หลังจากที่อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จนทำให้มีสัดส่วนในผลการตรวจหาเชื้อเป็นบวกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในกรณีของฟิลิปปินส์นั้น การขยายเวลาล็อกดาวน์ กรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ ยังส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ มืดหม่นลงด้วย

ประเทศอื่น ๆ ใน 20 อันดับแรก ที่มีลำดับในดัชนีร่วงลงมา รวมถึง นอร์เวย์ ร่วงลงมา 5 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 15 แคนาดา ร่วงลง 3 อันดับ อยู่ในลำดับที่ 19 และ มาเลเซีย ในลำดับที่ 20 ร่วงลงจากการจัดอันดับครั้งก่อนหน้านี้ 2 อันดับ

ประเทศที่รับมือโควิดได้ดี

สำหรับที่ 1 ของการจัดอันดับครั้งนี้ ตกเป็นของ สิงคโปร์ ที่สามารถโค่น นิวซีแลนด์ ที่อยู่ในอันดับ 1 มานานหลายเดือนลงอยู่ในลำดับที่  2  โดยบลูมเบิร์ก ชี้ว่า สิงคโปร์ สามารถ ควบคุมการติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ ให้ลดลงมาอยู่เกือบ 0 รายได้ ผลจากการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ และการกักกันโรคอย่างเข้มงวด เปิดทางให้ประชาชนส่วนใหญ่ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบปกติ ทำได้แม้กระทั่ง ไปดูคอนเสิร์ต หรือท่องเรือสำราญ

ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ ยังสามารถบริหารจัดการ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ให้ครอบคลุมประชากร 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งเป็นระดับการควบคุมการระบาด ที่ประเทศ หรือดินแดน ที่มีผลงานโดดเด่นในการควบคุมการแพร่ระบาด อย่าง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน ยังล้าหลังอยู่

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์ก ชี้ว่า การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยป้องกันการระบาดใหญ่แต่อย่างใด พร้อมยกตัวอย่างประเทศ ที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ชิลี และแคนาดา ที่ต่างมีอันดับในการรับมือกับไวรัสโควิดร่วงลงมา เนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา  และความพยายามในการบรรเทาทุกข์ก็ล้มเหลว

ส่วนประเทศอื่น ๆ ใน 20 อันดับแรกของดัชนี ที่มีลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับครั้งนี้ รวมถึง สหราชอาณาจักร ที่ทะยานขึ้นมาถึง 7 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 18 ฟินแลนด์ เวียดนาม และ สหรัฐ ขยับขึ้นมา 4 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 9, 11 และ 17 ตามลำดับ โดยสหรัฐนั้น ได้คะแนนดีขึ้น จากการที่มีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรลงมา

โปแลนด์ เป็นประเทศอยู่ในลำดับสุดท้าย ของการจัดอันดับครั้งนี้ โดยมี บราซิล อยู่ในอันดับรองสุดท้าย ส่วน อินเดีย ที่อยู่ในสถานะวิกฤติ ของการแพร่ระบาด อยู่อันดับที่ 30 หล่นลงมา 10 อันดับ จากเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Covid Resilience Ranking ใช้ข้อมูลที่หลากหลายในการจัดอันดับ เพื่อประเมินว่า ประเทศหรือดินแดนใด รับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจน้อยที่สุด

ข้อมูลที่นำมาพิจารณานั้น ไล่ตั้งแต่อัตราการเสียชีวิต และการตรวจหาเชื้อ ไปจนถึง การเข้าถึงวัคซีน และการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo