COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ แนะ อาวุธสำคัญ สู้วิกฤติโควิด ชี้ยอดป่วยใหม่ลด แต่ป่วยหนักเพิ่ม

หมอนิธิพัฒน์ แนะ อาวุธสำคัญ 3 อย่าง สู้โควิดระลอกใหม่ ลั่นศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ลด แต่ยอดผู้ป่วยหนัก เสียชีวิตเพิ่ม ต้องจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” รับศึกวิกฤติโควิดใหญ่หลวง แม้ยอดผู้ป่วยใหม่จะลดลงช้า ๆ แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นต่อไป อีกระยะหนึ่ง ซึ่ง หมอนิธิพัฒน์ แนะ อาวุธสำคัญ 3 อย่าง สู้โควิดระลอกใหม่ โดยระบุว่า

cell virusโควิดใน ม ๒๑๐๔๓๐ 0
หมอนิธิพัฒน์ แนะ อาวุธสำคัญ

“03: 30 การนอนหลับเป็นอาวุธสำคัญหนึ่งของมนุษย์ในการดำรงชีวิต มันถูกควบคุมความต้องการให้มากน้อย ได้สามช่องทาง หนึ่ง เป็นวงจรอัตโนมัติโดยไม่ตั้งใจ ของร่างกายแต่ละคน สอง คือ โดยตั้งใจยามไฟลนก้น เช่น คนใกล้สอบ สาม คือ กึ่งตั้งใจ ยามมีสิ่งเร้าต่อเนื่อง เช่น ยามศึกสงคราม

กว่าครึ่งเดือนแล้ว ที่ผมนอนน้อยลง โดยที่ประสิทธิภาพการทำงาน ตอนกลางวันคงเดิม (อาจป้ำเป๋อ เวลาสั่งงานลูกน้องบ้าง) คืนที่ผ่านมา ก็เช่นกัน

ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ข้าศึกถั่งโถมดาหน้ามา รวดเร็วกว่าศึกสองครั้งก่อน แม่ทัพช่วงแรก ดูอ่อนหัด ปล่อยให้ข้าศึกแทรกซึมไปทั่ว และไม่สามารถปลุกขวัญ นักรบแนวหน้าได้ดีพอ อาวุธหนักในการควบคุม ประชาชนกองหลัง ไม่ให้ช่วยเพิ่มข้าศึก ด้วยการแพร่กระจายเชื้อ ก็มัวแต่เงื้อง่า กว่าจะเอามาใช้ ก็แทบไม่ทันการณ์

ตอนนี้เริ่มมีการจัดกระบวนทัพกันใหม่ วางความขัดข้องที่ผ่านมาไปชั่วคราว หนึ่งสัปดาห์จากนี้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่ เพื่อทำให้ผู้ป่วยใหม่รายวันลดลง ข้างหน้ามีแสงสว่างรำไร พอมองเห็นทางรอด จากการสูญเสียครั้งใหญ่ได้

1 18

แต่อย่างที่ทำนายไว้ แม้ยอดผู้ป่วยใหม่จะลดลงช้า ๆ แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ยุทธวิธีที่จะรับมือยามนี้ หนทางหนึ่ง คือ การพยายามขยายศักยภาพเตียงในโรงพยาบาล ร่วมกับจัดระบบหมุนเวียน ผู้ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลให้เร็ว และหมุนเวียนเตียงผู้ป่วย ที่เข้าโรงพยาบาล ตามระดับความรุนแรง ให้มีประสิทธิภาพ

อีกทางหนึ่ง คือ ใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพ อย่างถูกที่ ถูกเวลา สามอาวุธ สำคัญที่จะรับมือ ผมขอเลือก

1. Pulse oximeter เพื่อวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจน จากปลายนิ้ว สำหรับคัดกรองว่าผู้ป่วยโควิด-19 มีปอดอักเสบเกิดขึ้นหรือยัง เพื่อเริ่มให้ยาต้านไวรัส ร่วมกับการดูแลในโรงพยาบาลหลัก และถ้ามีแล้วจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายหรือไม่

2. ยาสเตียรอยด์ ทั้ง dexamethasone หรือ prednisolone ระลอกนี้ แพทย์เริ่มใช้กันเร็ว เมื่อเริ่มมีปอดอักเสบโควิด ทั้งในระยะแรก (5 วันหลังมีอาการ หรือหลังตรวจพบเชื้อ) และระยะหลัง (7-14 วัน) ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง จนถึงขั้นวิกฤติ ลดลง (ตัวเลขผู้ป่วยหนักดูเยอะ เพราะจำนวนผู้ป่วยโดยรวมมากมาย ไม่ใช่ยานี้ไม่ได้ผล)

3. High-flow nasal cannula เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ช่วยลด และชะลอการลุกลาม ของปอดอักเสบ ไม่ให้รุนแรง จนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้ให้เร็ว เพื่อผลการรักษาที่ดี ในเตียงผู้ป่วยระดับ 2 ต่อ 3 ในช่วงโรคขาขึ้น (step up treatment) และนำมาใช้ต่อเนื่อง ในเตียงผู้ป่วยระดับ 3 ต่อ 2 ในช่วงโรคขาลง (step down treatment)

ขอเป็นกำลังใจให้ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ยังต้องเหน็ดเหนื่อยหนักกัน อีกระยะหนึ่ง ใครที่รู้ตัวว่าทำให้พวกเราเหนื่อย ช่วยกันจำไว้ด้วย แล้วค่อยมาเช็คบิลกัน หลังเสร็จศึกระลอกนี้”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo