COVID-19

โดนแน่! คลินิกแล็บ-รพ.เอกชน ไม่ส่งต่อผู้ป่วยโควิด ไม่ส่งรายงาน โฆษณาค่าตรวจ

สบศ. ชวนร้องเรียนสายด่วน 1426 คลินิก-รพ.เอกชน ไม่ส่งต่อผู้ป่วยโควิดหลังพบเชื้อ ไม่ส่งรายงาน และโฆษณาค่าตรวจ เผยคลินิกแล็บผ่านมาตรฐานแล้ว 279 แห่ง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบศ.) เปิดเผยว่า ช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ได้รับร้องเรียน คลินิกแล็บ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้รับการดำเนินการแล้ว 12 แห่ง ประเด็นหลัก คือ การไม่ส่งต่อผู้ป่วยหลังตรวจพบเชื้อ, ไม่ส่งรายงานผู้ติดเชื้อไปยังกรมควบคุมโรค หรือกรมวิทยาศาสตร์ฯ และโฆษณาราคาค่าตรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต

cell virusโควิดใน ม ๒๑๐๔๒๖ 1

ทั้งนี้ สบศ. ได้มีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุง ระงับการกระทำ ดังกล่าว แต่หากฝ่าฝืน ก็จะมีการพักใช้หรือยุติการตรวจโควิด-19 และระงับโฆษณาต่อไป เป็นการดำเนินการทางกฎหมายจริงจัง ทั้งโทษปรับและจำคุกต่อไป และหากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูล หรือเรื่องร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426

สิ่งสำคัญ ตามประกาศ คือ คลินิกแล็บ จะต้องมีคู่สัญญากับสถานพยาบาล ที่รับส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเป็นหลักประกันเตียงให้ผู้ป่วย หรือ หากเตียงเต็มต้องประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่ถ้ายังหาไม่ได้ ต้องรายงานไปยังผู้อนุญาตแต่ละพื้นที่ทราบ โดยข้อมูลขณะนี้ พบว่า ในคลินิกแล็บ 14 แห่ง มี 11 แห่ง ที่มีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญาแล้ว และที่เหลืออยู่ในระหว่างลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ในเว็บไซต์ของ สบส.

ปัจจุบัน จากการสนับสนุนให้ภาคเอกชน คลินิกแล็บ พัฒนาการตรวจโควิด โดยผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีทั้งสิ้น 279 แห่ง เป็นภาครัฐ 176 แห่ง เอกชน 103 แห่ง ในจำนวนนี้ อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 109 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน ที่มีคลินิกแล็บใหญ่ ๆ ถึง 14 แห่ง

นพ.ธเรศ2 e1590290376620
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

สำหรับประกาศแนวทาง เพื่อให้คลินิกต่าง ๆ ดำเนินการ มีดังนี้

1. ก่อนตรวจผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ จะต้องเป็นคลินิกที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

2. ต้องคัดกรองความเสี่ยงว่า ควรจะตรวจหรือไม่ และให้คำแนะนำผู้รับบริการก่อนตรวจว่า หากมีผลบวกต้องทำอย่างไร

3. หากผลตรวจเป็นบวก จะต้องแจ้งผู้รับบริการ แจ้งหน่วยควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง เช่น ในกรุงเทพฯ แจ้งที่สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ต่อมาให้แจ้งกรมวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อส่งข้อมูลเข้าโค-แล็บ (Co-Lab) ในการรวบรวมจำนวนผู้ติดเชื้อ

ขณะที่ล่าสุด สบศ. มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้เริ่มเคาะประตูบ้าน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 การลงทะเบียนวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” การดูแลสุขภาพ และช่วงหลังสงกรานต์ ที่มีประชาชนที่กลับไปเยี่ยมบ้านและกลับมา ก็ให้ อสม.เข้าไปดูว่าผู้ที่อยู่ในบ้านมีอาการป่วยหรือไม่ หรือมีกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงขอฝากประชาชนให้ความร่วมมือให้ข้อมูล

“ในช่วงที่มีผู้ป่วยจำนวนมากมาตรการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงวัคซีนใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์การสาธารณสุข และผู้บริหาร สธ.ทุกคน”นพ.ธเรศ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo