COVID-19

กทม. แยกผู้ป่วย ‘เขียว-เหลือง-แดง’ ตามระดับอาการ ปรับแผนคัดกรอง เคลียร์ผู้ป่วยตกค้าง

กทม. แยกผู้ป่วย แบ่ง 3 ระดับ เขียว-เหลือง-แดง ตามอาการ หวังบริหารจัดการเตียงไอซียู รับผู้ป่วยโควิด ด้านศูนย์เอราวัณ ปรับแผนคัดกรอง เร่งเคลียร์ผู้ป่วยตกค้าง

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการบริหารจัดการเตียง ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก โดย กทม. แยกผู้ป่วย ตามระดับอาการ ดังนี้

กทม. แยกผู้ป่วย

ผู้ป่วยสีเขียว คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาฯ ขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นแดงที่เท้าหรือผิวหนัง ถ่ายเหลว

ผู้ป่วยสีเหลือง คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ) โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด) โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม) ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (wbc < 1,000 cell/mm3)

ผู้ป่วยสีแดง คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหอบเหนื่อยเวลาเดิน หายใจลำบาก พบปอดอักเสบ มีภาวะปอดบวม (ความอิ่มตัวของเลือด < 96%) หรือความอิ่มตัวของเลือดลดลง > 3% หลังออกแรง

กทม1 1

ทั้งนี้ เมื่อประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะนำส่งไปยังสถานพยาบาลต่อไป โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์เอราวัณ จะเป็นหน่วยบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 และการจัดสรรเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของโรค พร้อมบริหารรถนำส่งผู้ป่วย ไปยังสถานพยาบาล ซึ่งเป็นเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับ การรับ-ส่งผู้ป่วยในแต่ละวัน จะดำเนินการตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. หากผู้ป่วยท่านใดตกค้าง หรือรอคิวเป็นเวลานานสามารถประสานแจ้งข้อมูลได้ที่หมายเลขสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สายด่วน 1330 ศูนย์เอราวัณ กทม. โทร. 1669 และสามารถแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น Line @sabaideebot ได้อีกช่องทางหนึ่ง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมสร้าง ICU เพิ่มเติมโดยเร่งด่วน เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น พร้อมเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงหมุนเวียนปรับโยกย้ายผู้ป่วยตามอาการ ตลอดจนปรับหอผู้ป่วยเตียงรวมที่ไม่มีห้องแยก (cohort COVID-ICU) เพื่อความเหมาะสม

กทม.เดินทางเอง

ในส่วนของผู้ติดเชื้อ ที่ได้รับการประสาน และแจ้งสถานพยาบาลที่รับการรักษาแล้ว และประสงค์เดินทางไปรับการรักษาด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ให้แจ้งศูนย์เอราวัณ กทม.สายด่วน1669 เพื่อประสานสถานพยาบาล ให้รับทราบล่วงหน้า โดยผู้ป่วยต้องเตรียมตัวดังนี้

  • เอกสารผลแล็บ ยืนยันการติดเชื้อ โควิด-19
  • หากมีผู้ขับรถให้ ควรมีฉากกั้นระหว่างคนขับ และผู้ติดเชื้อ เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุด
  • ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น ทั้งคนขับและผู้ติดเชื้อ
  • เปิดกระจก และปิดเครื่องปรับอากาศ
  • คนขับและผู้ติดเชื้อ ให้นั่งทแยงมุมคนละฝั่ง
  • สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทาง ควรใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 30 นาที
  • เมื่อเดินทางมาถึงไปยังจุดที่กำหนด ให้นั่งคอยในรถ จากนั้นให้โทรประสานเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

กทม2 1

ในส่วนของศูนย์เอราวัณ วันนี้ (26 เม.ย.) จะปรับแผนการนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากจากการสอบถามข้อมูล และการคัดกรองอาการผู้ป่วยทางโทรศัพท์อาจคลาดเคลื่อน ทำให้นำส่งโรงพยาบาลไม่ตรงกับระดับการติดเชื้อ

ดังนั้น เพื่อให้การนำส่งเป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ศูนย์เอราวัณจะนำผู้ป่วยที่รอเข้าสู่ระบบรักษา ไปทำการคัดกรองเชื้อโรค ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลสิรินทร เพื่อทำการคัดแยกผู้ป่วยว่าเป็นผู้ติดเชื้อระดับใด เป็นโควิดเขียว หรือเหลือง หรือแดง

จากนั้นเมื่อทราบระดับการติดเชื้อ จะได้นำส่งโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอการนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษา ขอให้กักตัวอยู่ที่บ้านงดการเดินทางหรือออกไปทำกิจกรรมส่วนรวม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไปด้วย

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยตกค้างที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 มีจำนวน 352 ราย เข้ามาเพิ่มเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564 จำนวน 217 ราย นำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยกำลังของศูนย์เอราวัณและเครือข่าย จำนวน 347 ราย คงเหลือผู้ป่วยตกค้าง ที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษา จำนวน 222 ราย คาดว่าจะสามารถดำเนินการรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาทั้งหมดได้ภายในวันนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo