COVID-19

เรื่องอย่าหาทำ ช่วงโควิด ‘หมอธีระวัฒน์’ ย้ำช่วยตัวเองได้ เท่ากับช่วยคนไทยทั้งประเทศ

“หมอธีระวัฒน์” เตือนเรื่องอย่าหาทำ ช่วงโควิด ย้ำต้องรักษาตัวให้แข็งแรง คุมโรคประจำตัวให้ได้ หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง ช่วยประเทศได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” เตือนอย่าคิดว่าเป็นคนหนุ่มสาว จะปลอดภัยจากโควิด และอีกหลายเรื่องที่ “อย่าคิด” “อย่าหาทำ” ในช่วงโควิด-19 โดยระบุว่า

นพยงธีระวัฒน์มนูญ ๒๑๐๔๒๐

“อย่า…. ในโควิด-19

อย่าทนงตนว่าเป็นหนุ่มสาว หรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร

นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้ อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการ จะรักษาง่าย ๆ

กลไกของการติดเชื้อเมื่อเข้าร่างกายแล้ว จะเพิ่มจำนวน และถ้าหยุดยั้งไม่ได้ หรือไม่ทัน เชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบ ที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง กว่าเชื้อไวรัสอื่น ๆ จากผลของการอักเสบ จะกระทบทุกอวัยวะในร่างกาย และทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็ก ๆ ทั่วไป ด้วย

อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น จำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบ ซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้น จากการกดภูมิคุ้มกัน และปอดอักเสบที่เห็นนั้ นจะกลายเป็นทั้งจากไวรัส และแบคทีเรียซ้ำซ้อน

อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลง หมายความว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคน ในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตาม ยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว และไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้

อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคน โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้น และจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น และเชื้อที่อยู่กับละอองฝอย จะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน แม้เมื่อตกพื้นไปแล้ว การเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)

อย่านิ่งนอนใจ ในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้ โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อ และการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้น

นอกจากนั้นโรคประจำตัวหลายชนิด จะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจอัมพฤกษ์ การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจาก โควิด-19 เองและโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น

สรุปสั้น ๆ ว่า ต้องรักษาตัวให้แข็งแรง คุมโรคประจำตัวให้หมดจดที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง

ช่วยตัวเองได้ = ช่วยคนไทยทั้งประเทศ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo