COVID-19

แบ่งสีผู้ป่วยโควิด ‘เขียว-เหลือง-แดง’ บริหารเตียง รับมือผู้ติดเชื้อพุ่ง

แบ่งสีผู้ป่วยโควิด สธ.ปรับกลยุทธ์ ดูแลบริหารเตียง ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล ช่วยบริหารจัดการดูแลอย่างเหมาะสม ลดปัญหาเตียงเต็ม

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้เกิดภาวะเตียงโรงพยาบาลเต็ม และบุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือ ทำให้ต้องแบ่งระดับอาการผู้ป่วย โดย แบ่งสีผู้ป่วยโควิด ออกเป็น สีเขียว สีเหลือง สีแดง

แบ่งสีผู้ป่วยโควิด

ทั้งนี้ การบริหารจัดการเตียง จะคัดกรอง และแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 3 ระดับ คือ

  • สีเขียว

ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย อายุไม่มาก ไม่มีโรคร่วม หากมาจากการค้นหาเชิงรุก จะส่งดูแลใน รพ.สนาม หากมาจากการไปตรวจแล็บ หรือโรงพยาบาลให้นำส่งเข้าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือรพ.สนาม ซึ่งทั้งสองส่วนดำเนินการตามมาตรฐานสถานพยาบาล มีการให้ปรอทวัดอุณหภูมิ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจติดตามอาการทุกวัน หากมีอาการมากขึ้น จะส่งกลับเข้าโรงพยาบาลทันที

  • สีเหลืองและสีแดง

ผู้ป่วยที่มีอาการเพิ่มมากขึ้น จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด โดยศูนย์ส่งต่อ รพ.ราชวิถี จะเวียนส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ รพ.เอกชน โดยทุกโรงพยาบาลสำรองเตียงไอซียู เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจมีอาการมากขึ้น

ผู้ป่วย 3 สี

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการโรงพยาบาล ในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) กล่าวว่า การแบ่งสีผู้ป่วย เป็นการเปลี่ยนกระบวนยุทธ์ จากเดิมที่ใครมาก็รับเลย แต่ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงต้องมีการจัดสรรกำลัง

ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลระดับนี้ ดูแลผู้ป่วยสีเขียว เช่น อาการน้อย เจ็บน้อย หรือโรงพยาบาลระดับนี้ มีทรัพยากรคน ทรัพยากรสิ่งของต่าง ๆ ก็ต้องดูคนไข้อาการหนัก

 

“หากเราปล่อยแบบเดิมจะไปไม่รอด เพราะรพ.สีแดง ไม่ควรเอาทรัพยากรที่มีจำกัด มาดูคนไข้สีเขียว ไม่ใช่ว่าสีเขียวไม่สำคัญ แต่เราจัดพื้นที่ที่ให้อยู่ มีการดูแลเหมือนกัน เพียงแต่สีแดงต้องมีทรัพยกร มียาพร้อม จึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์”รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่การติดเชื้อระลอกนี้ พบผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวค่อนข้างมาก แต่มีโอกาสอาการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง และสีแดงได้ จึงต้องเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ซึ่งโรงพยาบาลตติยภูมิ ทุกเครือข่าย ได้ร่วมกันขยายเตียงไอซียูเพิ่ม 50-100% อาจลดบริการบางส่วน เพื่อนำเตียงไอซียู และบุคลากร มาเสริม

ส่วนแผนขั้นต่อไป หากมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น อาจจัดตั้งไอซียูสนาม ซึ่งจัดเตรียมได้ทันที เนื่องจากได้เตรียมการไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลทุกเครือข่ายเตรียมพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ สิ่งที่สำคัญต้องขอความร่วมมือประชาชนเข้มมาตรการป้องกันตนเอง ยกการ์ดสูง เพื่อสู้กับโควิด 19 ให้ผ่านไปอีกครั้ง

สธ. 1

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้จัดระบบทางด่วน ให้รพ.เอกชน ขออนุมัติขยายเตียงได้คล่องตัวขึ้น ทำให้เพิ่มเตียงได้มาก และจัดหาโรงแรมมาเป็น Hospitel โดยมีที่ผ่านการรับรอง 34 แห่ง รวม 7,200 กว่าเตียง มีผู้ป่วยพักแล้ว 2,000 ราย

กรณีคลินิกเอกชนที่ตรวจหาเชื้อโควิด เมื่อพบเชื้อให้ผู้ป่วยไปหาสถานพยาบาลเอง ได้ออกประกาศให้คลินิก แล็บ ต้องให้คำแนะนำ และประสานจัดหาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชนเพื่อรักษาทันที ถ้าไม่ดำเนินการ ถือว่าผิดกฎหมาย และหากทำผิดซ้ำ อาจพิจารณาให้หยุดบริการ หรือสั่งปิดได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ผู้ติดโควิด 19 ทุกคน อยู่ภายใต้การดูแล ของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งให้โรงพยาบาล หรือแล็บเอกชน ที่ตรวจพบ ประสานในเครือข่าย ให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแล จากบุคลากรทางการแพทย์ทุกรายด้วย

พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร UHOSNET และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน บริหารจัดการเตียงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อ พร้อมเปิด 3 สายด่วนเพื่อประสานหาเตียง คือ 1330 1668 และ 1669 รวมถึง สบายดีบอต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo