COVID-19

ประกาศชัด! คลินิก รพ.ทุกแห่ง ต้องดูแล หาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยโควิด

สธ. ออกประกาศ คลินิก รพ.ทุกแห่ง ต้องดูแล หาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยโควิด  พร้อมเร่งเพิ่มฮอสพิเทล ให้ได้ 5,000 – 7,000 เตียง รองรับสถานการณ์แพร่ระบาด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์​ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ​ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออก ประกาศ กำหนดให้ คลินิก รพ.ทุกแห่ง ต้องดูแล หาเตียง ส่งต่อผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะคลินิก ที่รับตรวจโควิด-19 และพบผลการตรวจเป็นพบบวก

คลินิก รพ.ทุกแห่ง ต้องดูแล หาเตียง

ทั้งนี้เนื่องจาก ได้รับแจ้งว่า มีคลินิก หลายแห่งที่ตรวจผู้ป่วยโควิด แล้วเมื่อมีผลเป็นบวก แต่ไม่ดำเนินการให้การดูแลผู้ป่วยต่อ ทำให้เกิดเป็นภาระกับผู้ป่วยที่ต้องไปหาเตียง รวมทั้งผู้ป่วยบางรายไม่ทราบ ก็ยังเดินทางไปมา ทำให้ควบคุมโรคได้ยากลำบาก

สำหรับประกาศดังกล่าว กำหนดมาตรการ 3 ข้อ ให้คลินิก และโรงพยาบาล ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. ต้องมีระบบการให้คำปรึกษา ผู้ที่เข้ามาตรวจ และพบว่าติดเชื้อโควิด ในคนไข้จะต้องตรวจทำอย่างไร ดูแลตัวเองอย่างไร

2. คลินิก หรือโรงพยาบาล ที่รับตรวจโควิด-19 ต้องได้รับการรับรอง จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

3. เมื่อตรวจพบ ผลเป็นบวก ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการควบคุมโรคติดต่อ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งต้องดำเนินการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยเพื่อรักษา และส่งต่อ

“หากคลินิก หรือโรงพยาบาล ไม่ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว จะมีโทษตามกฏหมาย โดยเพิ่งออกประกาศฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชน”นพ.ธเรศ กล่าว

ในส่วนของการเตรียมความพร้อม ด้านเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพ และปริมณฑล นั้น ได้มีการเตรียมโรงพยาบาลในทุกสังกัด ใน กทม. ตั้งแต่ของกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ โรงพยาบาลตำรวจ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน ทั้งหมด 6,525 เตียง ปัจจุบันใช้ไปประมาณ 3,700เตียง

นพ.ธเรศ

ทั้งนี้ เตียงในโรงพยาบาล จะมีไว้สำหรับผู้ป่วย ที่มีอาการค่อนข้างมาก และเป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล เพื่อให้สถานพยาบาลที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ พร้อมใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดตั้ง ฮอสพิเทล (Hospital) โดยเป็นการใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่ คือ การนำโรงแรมที่ขณะนี้ไม่มีผู้เข้าพัก ทำเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว และใช้ในการดูแลผู้ป่วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ไม่มีอาการ และ 2. ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล 3 ถึง 5 วันแล้วอาการไม่แย่ลง หรืออาการปกติสามารถย้ายมาอยู่ที่ Hospital ได้

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐาน ทั้งเชิงโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรต่อชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์ โดย 1 Hospital ต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาล 1 คน ต่อคนไข้ 20 เตียง

จากการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ปัจจุบัน สามารถขึ้นทะเบียน Hospital ในกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว 23 แห่ง รวมจำนวน 4,900 เตียง เพื่อเป็นทางเลือกสำคัญ คู่กับเตียงของโรงพยาบาล และคู่กับโรงพยาบาลสนาม ในการดูแลประชาชน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้ว 2,000 กว่าเตียง

อย่างไรก็ตาม หลังจากคาดว่า จะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 400-500 ต่อวันในอนาคต จึงต้องเตรียมจัดหาเตียงให้ได้ 5,000 ถึง 7,000 เตียง พร้อมทั้งวางแนวทางไม่สร้างภาระให้ Hospital ด้วยการให้สามารถเบิกค่ารักษา จากประกันสุขภาพ หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับ Hospital

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo