COVID-19

‘หมอยง’ ชวนฉีดวัคซีน ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง หวังสิ้นปี 64 เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

“หมอยง” ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้มากตามเป้า ช่วยแและเสียชีวิตได้จริง หวังสิ้นปี 64 เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ มั่นใจประโยชน์จากวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะควบคุมโรคโควิด 19 ได้ การฉีดวัคซีนต้องบรรลุให้ถึงเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนประชาชน ให้มาฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ถึงเป้าหมาย ภายในสิ้นปี 2564 เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และสามารถเปิดประเทศได้

วัคซีนโควิดรพ.สนาม ๒๑๐๔๐๖

ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ที่มีการใช้ในโลก มีประสิทธิภาพในการป้องกัน การเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตสูงมาก เกือบถึง 100% ส่วนที่คนกังวลเรื่องผลข้างเคียง การฉีดวัคซีนทุกชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยาทางร่างกายขึ้นได้ เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือเป็นไข้ ถือเป็นอาการเล็กน้อยหายเองได้

ส่วนกรณีอังกฤษฉีดวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนเก้าไปแล้ว 17 ล้านโดส พบผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน 20 คน เสียชีวิต 7 คน คิดเป็น 1 ในแสนถึง 1 ในล้านโดส ถือว่าไม่แตกต่างจากกรณี การเกิดเส้นประสาทอักเสบ หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ต้องรอพิสูจน์ว่า เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในภาวะฉุกเฉินพิจารณาแล้วว่า การใช้วัคซีน มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ที่จะได้รับจากวัคซีน

ขณะเดียวกัน ยังยกตัวอย่างกรณี การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคนจำนวนมาก และครอบคลุมมากเพียงพอ พบว่าลดจำนวนโรคและอัตราการเสียชีวิตลง เช่น อิสราเอลมีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรสูงสุดในโลก เริ่มให้วัคซีนตั้งแต่ธันวาคม 2563 ในบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ฉีดตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อฉีดครบถ้วนจะได้รับบัตรเขียว สามารถไปผับบาร์ รับประทานอาหารในร้าน ดูหนังได้

นอกจากนี้ยังพบว่า ทำให้ผู้ติดเชื้อที่เคยสูงสุด 6,000 รายต่อสัปดาห์ เหลือหลักร้อยรายต่อสัปดาห์ อัตราเสียชีวิต เหลือหลักสิบรายต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มาก ได้ผลชัดเจน โรคสงบลง

หมอยง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ขณะที่อังกฤษ รณรงค์ฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ลดอัตราป่วยและเสียชีวิตลงได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ระบาดรวดเร็ว แต่ไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนกรณีฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ อัตราเสียชีวิตยังไม่ลดลง

ส่วนสหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนได้มากเช่นกัน ผู้ติดเชื้อจากแสนรายต่อวันก็เหลือ 5-6 หมื่นรายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกฉีดวัคซีนได้เพียง 650 ล้านโดส คิดเป็น 6.5% ของประชากรโลกที่มี 7,000 ล้านคน โดยมีอัตราการฉีดวันละประมาณ 15 ล้านโดส หากจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรโลกภายใน 1 ปีต้องเพิ่มอัตราการฉีดให้ได้วันละ 30 ล้านโดส

ขณะที่การฉีดวัคซีนในเด็ก เนื่องจากวัคซีนทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ใช้ในคนอายุมากกว่า 18 ปี แต่อนาคตเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็มีโอกาสได้ใช้วัคซีน เพราะขณะนี้เริ่มมีการวิจัยวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปี ก็ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนออกมา แต่เบื้องต้นพบว่ามีประสิทธิภาพดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo