COVID-19

สธ. เผย 2 เคส เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ‘รุนแรง’ ย้ำ ต้องใช้วัคซีนคุมโควิด

สธ. เผย 2 เคส เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ต้องได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ ย้ำไทยต้องใช้วัคซีนควบคุมโควิด ควบคู่เข้มมาตรการป้องกันตัวเอง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทย เริ่มฉีดวัคซีนโควิด สธ. เผย 2 เคส เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญ วินิจฉัยแล้ว มีรายละเอียด ดังนี้

สธ. เผย 2 เคส เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง

รายแรก เพศหญิงอายุ 16 ปี จังหวัดสมุทรสาคร มีประวัติแพ้กุ้ง และแพ้ไรฝุ่น

หลังฉีดวัคซีนประมาณ 10 นาที มีผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีด และศีรษะ มีอาการแดง ร้อน บริเวณหู และใบหน้าและตาบวมเล็กน้อย ต่อมามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และสังเกตอาการที่ห้องฉุกเฉินประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นอาการดีขึ้น กลับบ้านได้

รายที่สอง เพศหญิงอายุ 30 ปี จังหวัดราชบุรี ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัว และประวัติแพ้ยา รือแพ้อาหา

รหลังฉีด 30 นาที มีผื่นแดงนูนขึ้นบริเวณคอ หลังแขน หน้าอก คันทั้งตัว รู้สึกว่าหน้าบวม คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ รับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน จนอาการดีขึ้น กลับบ้านได้

นพ.โอภาส 2
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ จะต่างจากผลข้างเคียงจากวัคซีน โดยสิ่งที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ที่เรียกว่า อาการไม่พึงประสงค์ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. ไม่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น กลัวเข็ม เป็นลม และ 2. เกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งแบ่งเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน อาทิ มีไข้ แพ้วัคซีน และผลจากการฉีด เช่น ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด

นอกจากนี้ อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

ไม่รุนแรง เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย มีไข้ ซึ่งอาการจะหายไปเอง

รุนแรง เช่น อาการทางระบบประสาท การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง เช่น มีผื่น ความดันโลหิตต่ำ ช็อคหายใจไม่ออก ซึ่งส่วนใหญ่อาการกลุ่มนี้มักเกิดภายใน 15 นาที หลังจากฉีดวัคซีน และสามารถหายได้

กรณีอาการที่ไม่พึงประสงค์รุนแรง จะต้องมีการตรวจสอบ จากคณะกรรมการทุกราย หากวินิจฉัยแล้วพบว่า ไม่เกี่ยวกับวัคซีน ก็ฉีดตามปกติต่อไป และหากพบว่าเกี่ยวกับวัคซีน ก็จะแบ่งเป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปกติก็จะฉีดวัคซีนต่อไป แต่หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ และเป็นอันตรายจนผิดสังเกต จะหยุดฉีดวัคซีน

ฉีด 25

สำหร้บความคืบหน้าการฉีดวัคซีน โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 25 มีนาคม 2564 มีการจัดสรรวัคซีนโควิดไปแล้ว 190,720 โดส ใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นระยะแรก และ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จัดสรรไปแล้ว 54,980 โดส

รายงานยอดการฉีดวันที่ 25 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 15,589 โดส แบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 12,239 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 3,350 ราย รวมจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 25 มีนาคม 136,190 โดส แบ่งเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 121,392 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง 14,798 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 134 ราย มาจากระบบบริการ 41 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 87 ราย และจากต่างประเทศ 6 ​ราย​ มีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,453 ราย

จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 128 ราย มาจากจังหวัดสมุทรสาคร 17 ราย, กรุงเทพฯ 98 ราย, ปทุมธานี 1 ราย, สมุทรปราการ 5 ราย, ตาก 5 ราย และสมุทรสงคราม 2 ราย

ปัจจุบันพื้นที่การระบาดยังอยู่ใน 2 จุดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑลในเขตภาคกลาง และอีกจุดนึงคืออำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งสถานการณ์ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนเข้มงวดมาตรการป้องกันตัวเอง

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสว่า เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัส แต่ที่น่ากังวลคือ การกลายพันธุ์แล้ว แพร่เชื้อได้มากขึ้น, กลายพันธุ์แล้วทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หรือเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่พบการกลายพันธุ์ แล้วทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการกักตัว ที่ลดวันกักตัวเหลือ 10 วันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ จะยกเว้นประเทศต้นทางที่เดินทางมาจากแอฟริกา 12 ประเทศ ที่ยังต้องกักตัว 14 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo