COVID-19

สธ.แจงด่วน! ผู้เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนโควิด ผลจากเส้นเลือดโป่งพอง ไม่เกี่ยววัคซีน

ผู้เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนโควิด สธ. ชี้แจงด่วน เกิดจากโรคเดิม หลอดเลือดแดงโป่งพอง ไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ย้ำวัคซีนปลอดภัย

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยถึงกรณี ผู้เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนโควิด ว่า ต้องแสดงความเสียใจ กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งมีโรคเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตก

ผู้เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนโควิด

ทั้งนี้ ทาง กระทรวงสาธารณสุข มีระบบการติดตาม ผู้ที่รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1, 3, 7, 15 และ 30 วัน หลังการฉีดวัคซีน โดยเหตุการณ์นี้ ถือว่ารุนแรง จึงต้องมีการสอบสวน ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งจากประสบการณ์ของตนเอง ค่อนข้างมั่นใจว่า เกิดจากเส้นเลือดในช่องท้องแตก ไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีน

สำหรับ ผู้เสียชีวิต เป็นผู้ป่วยชาย มีโรคประจำตัวอยู่เดิม คือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพอง ได้รับการผ่าตัดเมื่อช่วยปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ภายหลังการผ่าตัด แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ หลังจากนั้น ผู้ป่วยมีความเสี่ยง จึงเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม และเดินทางกลับบ้าน

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1 และ 3 หลังจากฉีดวัคซีน จากการติดตามผล หลังการฉีดวัคซีน ให้ข้อมูลว่า มีอาการเป็นปรกติดี จนกระทั่งในวันที่ 7 หลังจากฉีดวัคซีน ทางเจ้าหน้าที่ ได้ติดต่อกลับไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้แจ้งรายงานผลกลับมา พบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยอาการแน่นหน้าอก วิงเวียน และเป็นลม

นพ.โสภณ1
นพ.โสภณ เมฆธน

หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คนไข้มีอาการทรุดลง จากนั้นวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลง โดยแพทย์ได้สรุปการเสียชีวิตว่า ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดแดงโป่งพอง และมีอาการแตกหรือรั่ว จากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพอง ซึ่งในการสรุปเบื้องต้น พิจารณาแล้วว่า ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่อย่างใด

ขณะที่ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพอง มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุมาก เนื่องจากเนื้อเยื่อเสื่อมสลายลงไปตามวัย หรืออาจจะเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หรือผู้มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง เช่นผู้สูบบุหรี่ มีส่วนน้อย ที่เป็นความพิการ มาตั้งแต่กำเนิด

ปัญหาของ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ คือ เป็นโรคที่ไม่มีอาการ และส่วนใหญ่ตรวจเจอโดยบังเอิญ จากอาการเจ็บหน้าอก เจ็บท้องอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อพบ ก็จะมีการผ่าตัด และโอกาสเสี่ยงก็มีสูง เนื่องจากแรงดันเลือดในเส้นเลือดแดงนั้นมีมาก ทำให้ต้องมีโอกาสหลอดเลือดแดงแตกได้

ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ ในช่วงวันที่ 7 – 8 หลังรับวัคซีน ก็มีอาการจุกที่ลิ้นปี่ เหนื่อย ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการรั่วซึม หรือแตกของเส้นเลือดแดง ดังนั้น จึงเป็นเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้น ในช่วงที่มีการฉีดวัคซีน ทำให้ต้องมีการสอบสวน ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน หรือไม่

นพ.ทวี
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

ทั้งนี้เนื่องจาก การรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องมีการติดตามผล และรายงานหลังจากการฉีดวัคซีน เพื่อตรวจสอบข้อมูลการเสียชีวิต และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า วัคซีนโควิด ไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีผู้มีอาการแพ้ในประเทศไทยนั้น จากกว่า 1 แสนโดส มีบางส่วน ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้จำนวนหนึ่ง โดยเมื่อคำนวนแล้วพบว่า อัตราการแพ้ มีเพียง 0.001% เท่านั้น ซึ่งถือว่า น้อยมาก

“จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต จากการได้รับวัคซีน จึงอยากจะย้ำว่า การรับวัคซีนในขณะนี้ มีความปลอดภัย ช่วยป้องกันโควิด-19 และวัคซีนส่วนใหญ่ มีประสิทธิภาพเกือบ 100% ในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง ถึงขนาดที่เสียชีวิต หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”นพ.ทวี กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo