COVID-19

ฝึกสุนัขดมกลิ่น ค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่แสดงอาการ ต่อยอดช่วยการแพทย์

จุฬาฯ ฝึกสุนัขดมกลิ่น ตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกของประเทศ พิสูจน์ผลแม่นยำถึง 95% เตรียมประจำการสนามบิน แหล่งท่องเที่ยว

การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่างๆ เป็นวิธีการคัดกรองเบื้องต้นและได้ผลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สุนัขที่ได้รับการฝึกมาแล้วสามารถทำสิ่งนี้ได้

จุฬา2

ล่าสุด คณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยความสำเร็จของ โครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ”

สัตวแพทย์หญิง ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า สุนัขมีความสามารถในการดมกลิ่นดีกว่าคนถึง 50 เท่า จึงคิดนำศักยภาพนี้มาใช้ โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่คณะวิจัยเลือกมาฝึก และทดสอบในโครงการนี้จำนวน 6 ตัว เนื่องจากสายพันธุ์นี้ เป็นสุนัขที่มีโพรงจมูกยาว มีประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นที่ไวและดี อุปนิสัยเป็นมิตรและฝึกง่าย

จุฬา1

จากการทดสอบ พบว่า สุนัขฝูงนี้ มีความแม่นยำในการพบผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ สูงถึง 94.8% เทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการวิจัยใช้สุนัข ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ อาทิ ฟินแลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการทำวิจัยนั้น จะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเหงื่อของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่ง ที่มีการยืนยันแล้วว่าไม่มีการเจือปนของเชื้อไวรัส โดยจะซับเหงื่อบริเวณใต้รักแร้ ด้วยสำลีและถุงเท้า เก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ ที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ

จุฒา3

จากนั้น นำสำลีและถุงเท้าดังกล่าว มาใส่กระป๋อง เพื่อให้สุนัขดมกลิ่น เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงทันที เพื่อบอกว่าคน ๆ นี้ติดเชื้อแม้จะไม่แสดงอาการ โดยยืนยันว่า กระบวนการทดสอบทั้งหมด ปลอดภัยต่อทั้งตัวสุนัขและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกใช้เวลา 2 เดือน เป็นการทดสอบความสามารถและฝึกสุนัขในการแยกแยะกลิ่นผู้ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ ว่องไว และแน่นอน โดยมีกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และบริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด ร่วมสนับสนุนการเตรียมตัวและฝึกสุนัข

จุฬา

ถัดมาคือ การทดลองปฏิบัติจริง ที่สนามบิน ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และฝึกสุนัขให้ดมกลิ่นจากเท้าของคน ส่วนในระยะที่สาม เป็นการวิจัยต่อยอดเครื่องมือคัดกรองรูปแบบใหม่ เช่น เซ็นเซอร์เพื่อบ่งชี้ผู้เข้าข่ายติดเชื้อ โดยคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร และ อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์

สำหรับโครงการนี้ นับเป็นต้นแบบในการฝึกสุนัข เพื่องานทางการแพทย์ ชุดแรกของประเทศไทย ซึ่งในอนาคต จะมีการต่อยอดฝึกสุนัขเพื่อตรวจโรคอื่น ๆ อาทิ โรคเบาหวาน ซึมเศร้า มาลาเรีย และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo