COVID-19

‘วราวุธ’ เผย ครม. เห็นชอบบูรณาการโครงการกัดเซาะชายฝั่ง เน้นแก้ปัญหายั่งยืน

วราวุธ” เผย ครม. เห็นชอบแนวทางบูรณาการโครงการกัดเซาะชายฝั่ง ก่อนสำนักงบประมาณจัดสรรเงิน ย้ำแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างยั่งยืน

ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ ยังคงสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ ระยะทางรวมทั้งประเทศกว่า 92 กิโลเมตร

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อให้ทุกหน่วยงานเสนอโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิจารณากลั่นกรองโดยผ่านอนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญก่อนเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ต่อไป ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมย้ำ การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต้องยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบต่อเนื่อง

วราวุธ น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตนได้กล่าวไว้หลายครั้งเกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องตามมาหลายปี

ตนทราบดีว่าหลายหน่วยงานพยายามเร่งรัดช่วยเหลือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกกว่า 92 กิโลเมตร จากความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้นกว่า 3,151 กิโลเมตร และส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเดิมที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง

ทั้งนี้ ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้หลักการเดียวกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบภายหลังการดำเนินการต่อพื้นที่ข้างเคียงและชุมชนโดยรอบด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หาแนวทางการบูรณาการการแก้ไขปัญหา

จนได้จัดทำหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบและให้เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

ซึ่งในคราวประชุม  ครม. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตนได้ชี้แจงต่อ ครม. ถึงความจำเป็นในการบูรณาการโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของทุกหน่วยงาน ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบและมอบให้สำนักงบประมาณใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้วย

กระทรวง ทส. เข้าใจในความตั้งใจและความหวังดีที่ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน พยายามช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่อยากฝากให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากดำเนินการด้วย หากช่วยเหลือพื้นที่หนึ่ง แต่ต้องตามแก้ไขให้อีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ปัญหาก็จะไม่สิ้นสุด การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน อย่าให้เป็นการแก้ไขอย่างไม่รู้จบ ซึ่งไม่คุ้มกับการสูญเสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติและงบประมาณ

S 12411559

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า สาเหตุปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ รวมถึง การก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ข้างเคียง

ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างทางวิศวกรรม นักธรณีวิทยา เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการจัดการระบบกลุ่มหาด  โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มหาดหลัก 44 ระบบกลุ่มหาด 318 หาด ซึ่งจะยึดตามลักษณะของหาดและธรณีสัณฐาน

สำหรับหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว ทาง ทช. จะได้แจ้งเวียนจังหวัดและหน่วยงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบและเสนอโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาให้ ทช. เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพิจารณา ต่อไป

สำหรับโครงการที่จะเสนอขอสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เสนอเข้ารับการพิจารณา จำนวน 64 โครงการ และผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งสิ้น 17 โครงการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo