COVID-19

เริ่มเม.ย.นี้ ! คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ไฟเขียว ‘พาสปอร์ตวัคซีน-ลดวันกักตัว’ รอ ศบค. พิจารณา

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบออก “พาสปอร์ตวัคซีน” สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 ครบ พร้อม ลดวันกักตัว ผู้เดินทางจากต่างประเทศ ที่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิดเหลือ 7 วัน หากไม่มีใบรับรองฉีดวัคซีน มีเพียงผลตรวจปลอดเชื้อโควิด ลดกักตัว เหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาคงการกักตัว 14 วัน เตรียมนำเสนอ ศบค. เพื่อพิจารณา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีมติเห็นชอบในเรื่องแรก เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว จะได้รับ ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 จากสถานพยาบาลที่ฉีด ไม่มีค่าใช้จ่าย

ลดวันกักตัว

หากประสงค์ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้นำใบรับรองการฉีดวัคซีน ไปขอรับพาสปอร์ตวัคซีน หรือ “สมุดเล่มเหลือง” ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมเล่มละ 50 บาท และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 50 บาท โดยจะมีการออก ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการออกสมุดเล่มเหลือง

อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้เดินทางในต่างประเทศ ยังต้องรอข้อตกลงระดับสากลก่อน

ส่วนเรื่องการ ลดวันกักตัว เนื่องจากขณะนี้ ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว มากกว่า 250 ล้านโดส ทำให้มีภูมิต้านทาน และลดการติดเชื้อ ได้มากขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบการลดวันกักตัวใน 3 กรณี คือ

คนต่างชาติ มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทาง มีเอกสารรับรองปลอดโควิดใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ในประเทศไทย ไม่พบเชื้อ ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้น ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ให้กักตัว 14 วัน

คนไทยเดินทางจากต่างประเทศ มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือน ไม่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด ผลการตรวจหาเชื้อในประเทศไทย 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

คนต่างชาติไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด มีเพียงเอกสารรับรองปลอดโควิด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน

ลดวันกักตัว1

โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมษายน 2564 เป็นต้นไป และระยะต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หากฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงอย่างน้อยร้อยละ 70 และประชาชนที่ทำงาน เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมาย บางพื้นที่อาจผ่อนคลาย ไม่ต้องกักตัว โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 และเฝ้าระวัง แนวชายแดนไทย-เมียนมา จากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เข้มงวดบริเวณแนวชายแดน และจัดสถานกักกันตามชายแดน ไว้รองรับเป็นการเฉพาะ

นายอนุทินกล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่ม ให้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น จากที่จัดหาไว้ 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 31.5 ล้านคน โดยไม่นับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และคนอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็อาจต้องหาเพิ่มเติมอีก 10-20 ล้านโดส โดยอาจขอให้ บริษัทแอสตราเซเนก้า เพิ่มกำลังผลิต หรือจัดหาวัคซีนชนิดอื่น ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ปลอดภัยมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo