COVID-19

ศบค.รอ WHO เคาะเกณฑ์ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ เล็งกระจาย ‘วัคซีนโควิด’ ทุกกลุ่มเสี่ยง

“หมอเบิร์ท” ชี้ ไทยรอ “อนามัยโลก” กำหนดเกณฑ์ “พาสปอร์ตวัคซีน” เพื่อปรับประกาศนียบัตรรับรองการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ ให้ตรงตามมาตรฐานโลก 

วันนี้ (8 มี.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการประชุมเรื่องการนำเสนอความก้าวหน้า ในการให้บริการการฉีดวัคซีนที่มีการกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับก่อน และยังจะมีวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะต้องมีการวางแผนกระจายควบคู่กันไปด้วย

shutterstock 1688180620

นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยถึงการกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานการณ์ที่เขารับวัคซีนมาจากประเทศเขามาแล้ว การจะเดินทางเข้ามาไทยต้องมีกระบวนการอย่างไร ต้องกักตัวกี่วัน ถ้าได้รับวัคซีนแล้ว การดูแลอาจต้องแตกต่างกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่สอดคล้องกับคนไทยในประเทศได้รับวัคซีนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จะทำให้การกักตัวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในระยะต่อไป อาจมีการผ่อนปรนมากขึ้น

ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีการหารือกันถึงเรื่อง พาสปอร์ตวัคซีน ซึ่งในอนาคตเมื่อมีการเปิดประเทศ และมีการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องมีพาสปอร์ตวัคซีน เป็นการแสดงตัวตน เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ต้องรอวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่จะออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

“ขณะนี้เราสามารถที่จะกำหนดประกาศนียบัตร ที่เป็นการประกาศว่า ท่านได้รับวัคซีนถูกต้องตามมาตรฐาน WHO เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง กต.ได้คิดกระบวนการนี้ และเริ่มที่จะเสนอ เพื่อให้สามารถทำได้ทันที จนเมื่อมีวัคซีนพาสปอร์ตมาตรฐานโลกแล้ว เราก็ปรับเปลี่ยนประกาศนียบัตรนี้ให้ตรงตามมาตรฐานโลก โดย กต.เริ่มกระบวนการนี้แล้ว” พญ.อภิสมัย กล่าว

ส่วนที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ คือ เรื่องการกระจายวัคซีน และแผนต่างๆในการกระจายวัคซีนต้องสอดคล้องกับแผนผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น ด้วยการทำอย่างมีประสิทธิภาพ และความร่วมมือจากประชาชนด้วย อีกสิ่งที่นายกฯ เน้นย้ำ คือ เมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว ศบค.เองได้ให้ความสำคัญมากว่าในส่วนของจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว จะได้รับการกระจายวัคซีนให้เป็นสถานที่แรกๆ ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่ ศบค.ชุดเล็ก ได้พูดคุยกัน คือ นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ด่านหน้าแล้ว การกระจายวัคซีนจะต้องไปถึง ตม. ศุลกากร ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ พลเรือนที่ถือว่าเป็นบุคคลเสี่ยงที่ทำงานอยู่ในสถานกักกันและทำงานในพื้นที่เสี่ยงหรือทำกิจกรรมเสี่ยง เช่น เข้าไปดูแลผู้ป่วย ทำการคัดกรองที่สนามบิน ผู้มีความเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว การกระจายวัคซีนก็จะไปถึงบุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มแรกๆ ศบค.ให้ความสำคัญและจะติดตามในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

“ขอย้ำว่า วัคซีนเป็นอาวุธที่ช่วยลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย แต่ยังไม่สามารถมีหลักฐานยืนยันได้ว่าจะลดการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น เราจำเป็นยังต้องรักษาสุขอนามัยส่วนตัวตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง อยากเห็นทุกคนสุขภาพดี เราจะได้ผ่านไปด้วยกัน” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo