COVID-19

‘สธ.’ สอบแล้วทุกอย่างถูกต้อง ปิดฉากปม VIP ลัดคิวฉีดวัคซีนโควิด-19

ปิดฉากปม VIP ลัดคิว ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เชียงใหม่ “สธ.” สอบแล้วทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ชี้แค่เรื่องเข้าใจผิด

จากกรณีที่มีข้อครหาว่า มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มวีไอพี (VIP) ก่อนบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนั้น

VIP ฉีดวัคซีนโควิด-19

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวผลการสอบว่า

คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้แสดงความคิดเห็นในเพจดังกล่าว สอบถามความคิดเห็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนครพิงค์รวม 20 คน อาทิ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ คำชี้แจงของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์

รวมถึงได้ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สรุปการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีน วันที่ 1 – 2 มีนาคม 2564 รายชื่อผู้ประสงค์ฉีดในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ตารางรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในกลุ่มเป้าหมาย รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารวัคซีนและคณะทำงาน เกณฑ์การแบ่งกลุ่มบุคคลเพื่อเรียงลำดับการรับวัคซีน รายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ประสงค์รับการฉีดวัคซีนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลนครพิงค์ แผนการฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,500 โดส

นายแพทย์สมฤกษ์กล่าวต่อว่า ผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทุกคน มีรายชื่อตรงตามบัญชีของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่

คำว่า VIP ที่ถูกนำไปกล่าวถึง หมายถึงผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานฉีดวัคซีนวันแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ผู้ว่า/รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 5 ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายชื่ออยู่ในแผนการได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ประชาสัมพันธ์ผู้เกี่ยวข้องให้รับรู้และเข้าใจอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งกำชับผู้บริหารให้ดำเนินการตามนโยบายโดยเคร่งครัด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งวัคซีนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประยุทธ์ วัคซีน โควิด นายก
     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับมอบวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของประเทศไทย

สำหรับแผนการฉีด วัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,500 โดส คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณากระจายวัคซีนตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไปและแรงงาน

ในช่วงแรกได้กระจายวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จำนวน 1,450 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งโดยตรงและการออกติดตามควบคุมกำกับในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ด่านตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งตำรวจ/ทหาร พลเรือน เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมสอบสวนโรค ทีมโควิด หมู่บ้าน เป็นต้น

และประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง จำนวน 300 คน เช่น ที่ทำการปกครองจังหวัดฯ ตำรวจภูธรจังหวัด ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ กองร้อยอาสารักษาดินแดนกองพลทหารราบที่ 7 กองบิน 41 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว อสม. ฯลฯ

โดยมอบหมายให้แต่ละส่วนส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่เพื่อวางแผนนัดหมายการฉีด

154991026 1152109788573640 6608191118462056627 o

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นพ.เกียรติภูมิ วงศรจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามหนังสือคำสั่งพักปฏิบัติหน้าที่ประจำชั่วคราว ให้ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ และ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยุติการทำหน้าที่ประจำไปก่อน โดยให้มีผลตั้งแต่เมื่อที่ 3 มีนาคม 2564 หลังมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ การลัดคิวให้กลุ่ม VIP ได้ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน

โดยทั้ง 2 คน ถูกให้ไปปฏิบัติราชการแทนที่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 เชียงใหม่ จนกว่าคณะกรรมการฯ จะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลสอบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สังคมคลายความสงสัย และให้วัคซีน 200,000 โดส ฉีดให้กับผู้ที่สมควรได้รับวัคซีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo