COVID-19

รู้ก่อนฉีด ผู้เชี่ยวชาญเล่าเรื่อง ความปลอดภัย ผลข้างเคียง วัคซีนโควิด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ยันวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไทยใช้ทั้ง 2 ชนิด ปลอดภัยสูง มั่นใจได้ ย้ำแม้ฉีดแล้วยังต้องเข้มป้องกันโรค

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 เข้ามา 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อตายของซิโนแวค และวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ ของแอสตราเซนเนกา ซึ่งทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัยสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ถ้ายังควบคุมโรคประจำตัวได้ไม่คงที่ ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด

วัคซีนโควิดรพ.สนาม ๒๑๐๒๒๘

ในส่วนของผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ก็มีความปลอดภัย เพียงแต่การศึกษาของซิโนแวค ในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีน้อย ต้องรอข้อมูลเพิ่ม และในช่วงต้นวัคซีนยังมีจำกัด จึงขอให้ใช้วัคซีนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ ต่ำกว่า 60 ปีใช้ของซิโนแวค และมากกว่า 60 ปีให้ใช้ของแอสตราเซนเนกา

นอกจากนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ยังมีประสิทธิภาพป้องกันเกิดโรคแบบรุนแรงได้ 100% อย่างไรก็ตาม หลายคนหวังว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเลิกใส่หน้ากาก ขอย้ำว่า วัคซีนช่วยให้ป้องกันป่วยด้วยโรคโควิด 19 อย่างรุนแรงได้ดีมาก แต่ยังอาจป่วยเล็กน้อยได้ถ้าได้รับเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างน้อย 50% จึงยังมีโอกาสที่เชื้อจะยังคงมีการระบาดได้อยู่

ทั้งนี้ การจะกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้ ต้องรอให้มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ของประชากรเสียก่อน ส่วนตอนนี้แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

สำหรับทั่วโลก มีรายงานการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 236 ล้านโดส ประเทศไทยไม่ได้ฉีดช้าและเร็วเกินไป ทำให้เห็นความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ในหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วเห็นผลว่า มีอัตราการติดเชื้อ การนอนรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลดลง

ประเด็นอาการข้างเคียงรุนแรง หรืออาการแพ้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า 1 ในล้านโดส เพราะวัคซีนของแอสตราเซนเนกาและซิโนแวค มีอัตราการแพ้รุนแรงต่ำมาก ต่ำกว่าชนิด mRNA 5-10 เท่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากวัคซีน เนื่องจากฉีดในสถานที่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ และมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการ หากมีอาการแพ้ก็ดูแลได้ทันท่วงที

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

ส่วนอาการที่พบบ่อย หลังฉีดวัคซีนในช่วง 24 ชั่วโมงแรก คือ ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายเป็นไข้ แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีน

ที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของไทย มีระบบเฝ้าระวังผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” ในการติดตามอาการภายหลังการฉีด ส่วนผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็มีระบบรายงานโดยตรง ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ อสม. โดยขอให้บันทึกอาการ ไม่ว่ามากหรือน้อย ตั้งแต่วันแรกที่ฉีด วันที่ 7 และวันที่ 30 หลังการฉีด หากมีอาการหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรก ถ้าไม่มั่นใจขอให้ปรึกษาแพทย์

ขณะเดียวกัน ยังมีระบบติดตามสถานการณ์โรค ในโรงพยาบาลที่มีบริการฉีดวัคซีนว่า มีโรคอะไรที่อาจเกี่ยวเนื่องจากโรคโควิด 19 หรือภาวะใด ๆ ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ เพื่อนำผลมาประมวลด้วย

“ดังนั้น ผู้ที่ยังลังเลไม่มั่นใจในวัคซีน ตอนนี้ขอให้มั่นใจได้แล้ว การฉีดวัคซีนจะเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 ของประเทศไทย” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

สำหรับการฉีดเข็มที่สอง มีระบบช่วยเตือนผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” และ อสม.ให้กลับมารับวัคซีน แต่วัคซีนที่ไทยใช้มี 2 เทคโนโลยีการผลิต ทำให้การฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีความแตกต่างกัน โดยของซิโนแวค จะฉีดห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในพื้นที่ระบาดควรฉีดกระชับให้เร็วขึ้น พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อน้อยควรทิ้งห่างกว่า จะกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น

ขณะที่ วัคซีนแอสตราเซนเนกา แนะนำให้ฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ ประสิทธิภาพในการป้องกันจะเกิดขึ้นหลังฉีดหลังฉีดเข็มแรก 14 วัน แต่อาจยังไม่เต็มที่ ต้องกระตุ้นเข็มที่ 2 ถึงมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo