COVID-19

สธ.ปัดข่าว โควิดแพร่จากค้างคาว จตุจักร ยันไร้ข้อพิสูจน์ทางวิชาการ

โควิดแพร่จากค้างคาว สธ.ยันไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยัน แม้ค้างคาวจะเป็นแหล่งรังโรคเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่เฝ้าระวังมา 20 ปี ยังไม่พบแพร่สู่คน

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากกรณีมีรายงานข่าวว่า ไวรัสโควิดที่ไปกระจายที่อู่ฮั่น มีต้นกำเนิด โควิดแพร่จากค้างคาว จากตลาดจตุจักรนั้น ขอเรียนว่า ไม่เป็นความจริง

โควิดแพร่จากค้างคาว

ทั้งนี้ มีประเด็นเกี่ยวเนื่อง จากการแถลงข่าวของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และสำนักข่าวต่าง ๆ นำมาเสนอ และเชื่อมโยงมาถึงจตุจักร อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่นนั้น ประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง โดยนักวิจัยมีการเก็บตัวอย่างเชื้อ ภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในการศึกษาค้างคาวต่อเนื่องมา 20 ปีว่า มีโอกาสว่าพบการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คนหรือไม่

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักวิจัย ที่เก็บตัวอย่างตรวจสอบ ค้างคาวมงกุฎ ในไทย ช่วงตอนต้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีข้อสงสัยว่า เชื้อนี้มาจากสัตว์ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ชี้ชัดได้ว่า มาจากสัตว์อะไร ข้อสรุปยังไม่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น จึงต้องดูหลักฐานทางวิชาการ แต่จากผลวิจัยที่ได้พบว่า ค้างคาว เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนา ที่พบใน ค้างคาวมงกุฏ ที่พบในไทย มีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึง 91.5% แต่ไม่ติดต่อจากค้างคาวสู่คน

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงข้อนี้ นำไปสู่ข้อแนะนำประชาชนว่า การไม่กินสัตว์ป่า ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว นับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด

นพ.เฉวตสรร นามวาท 2
นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์โคโรน่า มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ ก่อโรคในสัตว์ และถ่ายทอดในสัตว์ แต่ไม่ถ่ายทอดหาคน เช่น ไวรัสโควิด-19 ในหมา ในแมว ทั่วไปที่เจอ ไม่แพร่สู่คน แต่เจอในสัตว์อื่น ๆ เช่น ค้างคาว

นอกจากการวิจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีความร่วมมืออื่นระหว่าง กรมควบคุมโรค กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง

พร้อมกันนี้ ได้มีการหารือ แผนปฎิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาด พื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และ ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่งในพื้นที่กทม. เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ยังไม่มีหลักฐานประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องเฝ้าระวังอยู่แล้ว แม้ยังไม่เจอปัญหาไม่มีหลักฐานก็เตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่

นางสาวเทอา โคลเซน ฟิเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสชาวเดนมาร์ก ที่ร่วมลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่น กับทีมงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสำรวจหาต้นตอของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ทวีตข้อความว่า พาดหัวข่าว และบทนำ ในบทความหนึ่ง ของ โพลิติเคน สื่อเดนมาร์ก ที่ระบุว่า ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร ของไทย อาจเป็นต้นตอของโรคโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องบิดเบือน

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ อธิบายว่า ตนพูดถึง ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร ในเชิงยกตัวอย่าง ว่าเป็นตลาดที่วางกรงสัตว์ซ้อนกัน และมีความแออัด ซึ่งตลาดลักษณะนี้ อาจเป็นต้นตอให้ไวรัสชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ที่ระบาดเมื่อปี 2546

การออกมาชี้แจงข้างต้น เกิดขึ้นหลัง โพลิติเคน สื่อเดนมาร์ก รายงาน โดยอ้างชื่อของผู้เชี่ยวชาญรายนี้ว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร อาจเป็นต้นตอของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปยังเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของจีน

โพลิติเคน ระบุด้วยว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) พบได้ใน ค้างคาว สายพันธุ์หนึ่ง ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในไทย

จากนั้น นายเชเรมี อังเดร ฟลอแรส์ ผู้สื่อข่าวด้านเอเชีย ของสำนักข่าว เลอ ปองต์ ในฝรั่งเศส ที่ประจำในฮ่องกง ได้นำบทความของโพลิติเคนมาโพสต์ในทวิตเตอร์ และบรรยายว่า การรายงานของโพลิติเคนไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนเลย ตนจึงมองว่าเป็นการรายงานที่ “ไร้ความรับผิดชอบ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo