COVID-19

เปิดโผ บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด 36 ราย สุดอาลัย ‘หมอปัญญา’ เหยื่อโควิดรายแรก

บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด 36 ราย สธ.เผย ความเสี่ยงสูง หลัง หมอปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ เสียชีวิตรายแรกจากโควิด-19

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขอแสดงความเสียใจกับคุณหมอปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด และเสียชีวิต เป็นรายแรก จากการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด โดยคุณหมอเป็นผู้เสียสละมาก ไม่สบาย มีโรคประจำตัวหนัก ยังรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด

สำหรับ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อายุ 66 ปี เป็นแพทย์เกษียณอายุแล้ว เป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก และ กระจายไปปอดบ้าง ทำงานคลินิก 2 แห่ง และสัมผัสผู้ติดเชื้ออาการไม่มาก จากคลัสเตอร์วงแชร์ มหาสารคาม ซึ่งคุณหมอยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยติดโควิด ทันทีที่ทราบก็พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะ จนไม่เกิดการแพร่กระจาย

บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด

ขณะที่ ไทม์ไลน์ ของ นพ.ปัญญา มีดังนี้

วันที่ 13-28 มกราคม ให้การรักษาผู้ป่วย โควิด รายที่ 2 รายที่ 9 และรายที่ 11 ของจังหวัดมหาสารคามที่คลีนิค

วันที่ 29 มกราคม ตรวจหาเชื้อโควิด ครั้งที่ 1 ผลไม่พบเชื้อ

วันที่ 31 มกราคม มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อ ครั้นตัว คล้ายจะเป็นไข้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีอาการไข้ และตรวจหาเชื้อโควิคครั้งที่ 2 ผลตรวจพบเชื้อ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลมหาสารคาม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีอาการปอดอักเสบ ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จากนั้นจึงส่งต่อไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ติดเชื้อราในกระแสเลือด

วันที่ 18 กุมภาพันธ์เสียชีวิต เวลา 01.00 น.

แพทย์1

ทั้งนี้ นับแต่การระบาดระลอกใหม่ วันที่ 15 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19 รวม 36 ราย แบ่งเป็น แพทย์ 4 ราย, ทันตแพทย์ 1 ราย, พยาบาล 9 ราย, ผู้ช่วยพยาบาล 1 ราย, เภสัชกร 3 ราย, นักเทคนิคการแพทย์ 1 ราย, นักเทคนิครังสีและผู้ช่วย 2 ราย, นักกายภาพบำบัด 1 ราย, นักศึกษาแพทย์ 1 ราย, เจ้าหน้าในโรงพยาบาล 4 ราย, พนักงานเวรเปล 1 ราย และ อื่นๆ เช่นเจ้าหน้าที่คลังยา, เจ้าหน้าที่ธุรกิจ 8 ราย

เมื่อแยกเป็นจังหวัดพบว่า ผู้ป่วยโควิดที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 36 ราย อยู่ใน กทม. 12 ราย, สมุทรสาคร 12 ราย, นนทบุรี 3 ราย ส่วน เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ขอนแก่น, ชลบุรี, ตาก, ปทุมธานี, ราชบุรี, สิงห์บุรี และ อ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย รวม 12 จังหวัด

บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด

ขณะที่ การติดเชื้อของบุุคลากรทางการแพทย์ ดังกล่าว ส่วนใหญ่มีประวัติการติดเชื้อ ทั้งจากการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการติดเชื้อในครอบครัว

ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ป่วยทุกคน ที่ไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล และคลินิก ในการซักประวัติอาการป่วย ต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบ หากเคยเข้าไปในที่ชุมชน หรือสัมผัสผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด ไปให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ อย่างมาก

ในส่วนของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งระหว่างการรักษา เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง ต่ออาการป่วยรุนแรง หากได้รับเชื้อโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชน สถานที่แออัด และควรสวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง อย่างสม่ำเสมอ

ด้าน นพ.ณัฐพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นอุทาหรณ์ให้บุคลากรทางแพทย์ ต้องระมัดระวังตัว มีเครื่องป้องกันอย่างดี ปฏิบัติตามหลักหัตถการอย่างเคร่งครัด ในขณะปฏิบัติหน้าที่

ขณะเดียวกันประชาชน ที่มีโรคประจำตัว จะมีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามหลักชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด และแจ้งประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ให้แพทย์ที่ตรวจรักษาได้รับทราบ อย่างตรงไปตรงมาทุกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo