COVID-19

เกาะติด ไวรัสอีโบลา สธ.สั่งเฝ้าระวัง 3 ระดับ ยันยังไม่พบในไทย

เกาะติด ไวรัสอีโบลา สธ. สั่งติดตามสถานการณ์โรค ในต่างประเทศ ต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังเข้มทั้ง 3 ระดับ ยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ในประเทศไทย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากพบการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหม่ ใน 2 ประเทศแถบแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) และประเทศกินี ทำให้ สธ. เกาะติด ไวรัสอีโบลา ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

เกาะติด ไวรัสอีโบลา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การระบาดครั้งนี้ พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่ทางองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานของทั้งสองประเทศ เพื่อควบคุม และยุติการระบาดในครั้งนี้ ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วย ที่สงสัยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ตามระบบที่วางไว้ อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้น ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่

  • ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
  • โรงพยาบาลภาครัฐ และภาคเอกชน
  • ในระดับชุมชน

ส่วนเฝ้าระวัง และตรวจคัดกรอง จะเน้นผู้ที่มีประวัติ เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ในทุก ๆ ช่องทางเข้า-ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน หากพบผู้เดินทาง มีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จะรับเข้าดูแล ในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด

นอกจากนี้ สธ. ยังมีคำแนะนำ สำหรับประชาชนทั่วไป ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่นำเข้ามา โดยไม่ผ่านการตรวจโรค

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่า ที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดาร ที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลก ๆ มาประกอบอาหาร

3. สำหรับประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่สุก ร้อน สะอาด และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรค

สำหรับอาการสงสัย โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า กินีเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทางแอฟริกาตะวันตก ระหว่างปี 2557-2559 ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เชื้อไวรัสนี้ ถูกตรวจพบครั้งแรก เมื่อปี 2519

ขณะนี้ มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 4 ราย และในกินี 3 ราย โดย WHO กำลังทำงานอย่างใกล้ชิด กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ของทั้ง 2 ประเทศ

ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้ประชาชนแล้ว 43 ราย จากจำนวนผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 149 ราย ซึ่งนับรวม 20 รายที่ได้ฉีดวัคซีน ในช่วงการแพร่ระบาดรอบก่อนในปี 2562

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา (Africa CDC) เปิดเผยจำนวนผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในทวีปแอฟริกา สะสมอยู่ที่ 3,750,266 ราย เมื่อนับถึงวานนี้ (15 ก.พ.) ขณะยอดผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 98,480 ราย และยอดผู้ป่วยหายดีอยู่ที่ 2,290,070 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo